การประยุกต์เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อการสร้างภาพสันนิษฐาน ของแหล่งศิลปวัฒนธรรมในเขตตำบลเวียงเชียงแสน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
Main Article Content
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำแบบจำลอง 3 มิติ และภาพถ่าย 360 องศา ของแหล่งศิลปวัฒนธรรมในเขตตำบลเวียงเชียงแสน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลของแหล่งศิลปวัฒนธรรมผ่านทางเทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม หรือ AR (Augmented Reality Technology) และแอปพลิเคชัน Google Street View โดยทำประเมินและคัดเลือกพื้นที่แหล่งศิลปวัฒนธรรมที่มีความสำคัญจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ศึกษา จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ วัดมุงเมือง วัดอาทิต้นแก้ว วัดมหาโพธิ์ วัดมหาธาตุ และวัดเชตวัน จากนั้นดำเนินการสำรวจรังวัดระยะความกว้าง ความยาว ความสูง และตำแหน่งพิกัดของแหล่งศิลปวัฒนธรรมเพื่อนำมาการสร้างเป็นแบบจำลอง 3 มิติด้วยโปรแกรม SketchUp Pro 2021 รวมถึงการสร้างภาพสันนิษฐานรูปทรงของแหล่งศิลปวัฒนธรรมที่ชำรุดทรุดโทรมโดยอ้างอิงจากข้อมูลที่ได้จากงานภาคสนามและเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยในส่วนของการจัดทำภาพถ่ายภาพ 360 องศา ของแหล่งศิลปวัฒนธรรมทั้ง 5 แห่ง เป็นการจัดทำโดยการใช้กล้องจากสมาร์ทโฟนผ่านแอปพลิเคชัน Google Street View และจัดทำแอปพลิเคชันเพื่อนำเสนอข้อมูลของแหล่งศิลปวัฒนธรรมผ่านเทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม (AR)
จากการศึกษาพบว่า แบบจำลอง 3 มิติของแหล่งศิลปวัฒนธรรมสามารถแสดงและปรับทิศทางการชมได้ตามความต้องการและแบบจำลอง 3 มิติมีความถูกต้องตามมาตราส่วนที่ได้กำหนดไว้ ในส่วนของการแสดงภาพถ่าย 360 องศา ผู้ใช้งานสามารถปรับมุมมองของการชมภาพได้แบบรอบทิศทางเสมือนการมองจากสถานที่จริงของแหล่งศิลปวัฒนธรรมทั้ง 5 แห่ง ส่วนแอปพลิเคชันที่จัดทำขึ้นเพื่อแสดงข้อมูลแบบจำลอง 3 มิติของแหล่งศิลปวัฒนธรรมผ่านเทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม (AR) และภาพถ่าย 360 องศา นั้น ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “WeAR” เพื่อนำไปติดตั้งบนสมาร์ทโฟนได้จาก https://social.crru.ac.th/research/wear.apk ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการวางแผนการท่องเที่ยว รวมถึงการศึกษาประวัติศาสตร์และความเป็นมาของแหล่งศิลปวัฒนธรรมในเขตตำบลเวียงเชียงแสน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
References
กฤษณพงศ์ เลิศบำรุงชัย. การสร้างสื่อ AR ด้วย Unity+Vuforia การศึกษาตามอัธยาศัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://touchpoint.in.th/ar-augmented-reality-unity-vuforia.2563.
ธนิก ชาญเลิศฤทธิ์. (2554). การจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม. กรุงเทพมหานคร: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
นนท์ลฉัตร วีรานุวัตติ์ และเกศรา สุกเพชร. (2560). ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวโดยชุมชนของไทย. วารสารวิจัยรําไพพรรณี. 11 (มกราคม-เมษายน): 5-16.
เพ็ชรสวัสดิ์ กันคำ, ทศพล คชสาร และอิทธิพัทธ์ เรืองกิจวัฒน์. (2561). ความเชื่อมโยงของแหล่งวัฒนธรรมท้องถิ่นตามแนวเส้นทางโบราณเชียงราย-เชียงแสน. วารสารปัญญา. 25 (มกราคม-มิถุนายน): 40-50.
ยุทธการ อัศวินะกุล, (2560). การประยุกต์เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อเผยแพร่สารสนเทศด้านการท่องเที่ยวของอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี. วารสารการบริการและการท่องเที่ยวไทย. 12 (กรกฎาคม- ธันวาคม): 44-56.
วิภา พันธวงค์ และประสิทธิ์ สว่างศรี. (2563). แนวทางการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมทางกายภาพคูน้ำคันดินเมืองโบราณกันทรวิชัย อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม. วารสารวิจัยรําไพพรรณี. 14 (กันยายน-ธันวาคม): 112-120.
ศุภกานต์ เหล่ารัตนกุล. วิธีถ่ายภาพ 360 องศาอย่างละเอียดลง Facebook ใคร ๆ ก็ทำได้ด้วยสมาร์ทโฟน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://www.beartai.com/beartai-tips/103171. 2563.
อำนาจ ชิดทอง. (2555). เทคนิคความเป็นจริงเสริมเพื่อผลิตสื่อการสอนสำหรับโครงสร้างต้นไม้. วิทยานิพนธ์ปริญญา มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.