- การวิเคราะห์การรับรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์อุบัติเหตุทางถนน : นัยยะต่อการพัฒนานโยบายสาธารณะ -

Main Article Content

ภาคภูมิ -

บทคัดย่อ

 อุบัติเหตุทางถนนเป็นปรากฏการณ์ที่ได้รับความสนใจแตกต่างกันไป นักกฎหมายอาจสนใจพฤติกรรมของปัจเจกที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุเพื่อหาขอบเขตความรับผิดชอบที่ผู้กระทำความเสียหายต้องชดใช้ ขณะที่ทางการแพทย์และสาธารณสุข จะมองไปที่การรักษาผู้บาดเจ็บ การเยียวยารักษา รวมทั้งการป้องกันและลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทำให้สนใจสาเหตุและต้นตอ (Cause, or rooted cause) ของการเกิดมากกว่าลักษณะของการเกิดเหตุจริงๆของอุบัติเหตุ ส่วนสังคม มองอุบัติเหตุทางถนนว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดการชนกันหรือล้มลงของรถทำให้เกิดการกระแทก ระหว่างรถ ถนนและวัตถุต่างๆที่อยู่แวดล้อม  แต่โดยทั่วไป อุบัติเหตุทางถนน มักได้รับการนิยามที่เชื่อมโยงกับโอกาสที่จะเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด ทั้งการบาดเจ็บทางร่างกายและการสูญเสียทรัพย์สิน การนิยามแบบนี้จึงมักถูกนำไปเชื่อมโยงกับ เรื่องโชคชะตา และกรรมเก่าที่สะท้อนถึงการยอมจำนน ที่สำคัญยังเป็นอุปสรรคในการแก้ไข   นอกจากนี้  ความเสี่ยง และ ความประมาทของแต่ละคนในเรื่องอุบัติเหตุจึงมองไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น การคุยโทรศัพท์โดยใช้ อุปกรณ์เสริมอย่าง Hand free หรือ Bluetooth หลายคนคิดว่าเป็นการกระทำที่ปลอดภัยในการขับขี่แต่บางคนคิดว่าเป็นความเสี่ยง


                 อย่างไรก็ตามทุกคนเข้าใจตรงกันว่า อุบัติเหตุเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทุกขณะ ตราบใดที่มีการใช้รถใช้ถนนและมนุษย์เป็นผู้ควบคุมยวดยาน ย่อมมีโอกาสผิดพลาด คนจึงไม่ได้มองข้ามเรื่องอุบัติเหตุ แต่มักมองข้ามปัจจัยเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ เพราะคิดว่าจะไม่เป็นสาเหตุที่มีโอกาสเกิดขึ้นของอุบัติเหตุ เช่น การก้มเก็บของเล็กๆน้อยๆ การรีบเช็ดอ๊วกหรืออาเจียนเด็กระหว่างขับรถ หรือ การรีบรับโทรศัพท์ในระหว่างขับขี่รถ การไม่สวมหมวกนิรภัยเพราะคิดว่าขับไปไม่ไกล เป็นต้น การมองและรับรู้ความเสี่ยง (Perceived risk) จึงมีผลต่อความเสี่ยงจริงที่เกิดขึ้น (Actual risk) ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำความเข้าใจในการรับรู้ปัจจัยเสี่ยงและวิเคราะห์ปรากฏการณ์อุบัติเหตุทางถนนผ่านมุมมองของการรับรู้ เพื่อใช้เป็นฐานคิดที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย

Article Details

บท
บทความวิจัย