ปี 2024 เหมือนจะเป็นปีทั่วไปที่สังคมไทยผ่านช่วงระยะเวลาที่เลวร้ายอย่างเช่นภัยพิบัติโควิท-19 มาแล้ว จริงอยู่ว่ากระแสของกาลเวลาไหลไปไม่เคยย้อนกลับ แต่ว่ากระแสของคนในสังคมไทย “บางกลุ่ม“ มุ่งรอคอยการมาถึงของ ค.ศ. 2024 อย่างใจจดใจจ่อด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์การเมือง เพราะหลายปีก่อนหน้านี้ มีกระแสเกิดขึ้นมาในหมู่คนบางกลุ่มว่า เอกสารจดหมายเหตุของประเทศฝรั่งเศสที่เกี่ยวข้องกับ ปรีดี พนมยงค์ จะเปิดขึ้นให้ผู้สนใจสามารถเข้าใช้และศึกษาได้ จากกระแสเล็ก ๆ ก็กลายเป็นกระแสที่แพร่กระจายไปวงกว้าง คำพูดปากต่อปากก็ทำให้ เอกสารจดหมายเหตุที่ฝรั่งเศสเก็บไว้เกี่ยวกับปรีดีก็เลยถูกเรียกใหม่ว่า “จดหมายปรีดี” ซึ่งทำให้นัยยะของความคาดหวังเกี่ยวกับเนื้อหาที่มีต่อชุดเอกสารดังกล่าวเปลี่ยนไป
ความคาดหวังของกระแสสังคมที่มีต่อการเปิด “จดหมายปรีดี” สามารถบ่งชี้หลายสิ่งหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคมไทยได้พอสมควร อาทิ ความสนใจของคนรุ่นใหม่ (ไม่ว่าจะเป็นแบบปลิวผ่านเข้ามาสู่ความสนใจหรือว่าติดตามเรื่องนี้จริงจังก็ตาม) ต่อประเด็นปัญหาทางประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ดี “จดหมายปรีดี” ได้ทำหน้าที่ในการสร้างความคาดหวังบางประการหรือสะท้อนความคาดหวังบางอย่างของผู้สนใจ ผู้สนใจหลายต่อหลายคนมุ่งเน้นรอคอยว่า “จดหมายปรีดี” จะมาตอบโจทย์ในใจและตอบโจทย์ทางการเมืองของพวกเขา ความคาดหวังดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงพลังของข่าวลือที่เมื่อกระพือออกไปแล้วยากที่หยุดยั้งโดยง่าย บ้างก็หยอกเย้าถึงความเป็นไปได้ของ “จดหมายปรีดี” ว่าอาจจะเป็นเพียงสูตรข้าวมันไก่ บ้างก็บอกว่าอาจเป็นข้อความทำนอง “กูว่าแล้วมึงต้องอ่าน” ไม่ว่าจะมีคนพูดเล่นหยอกเย้าอย่างไร แต่เชื่อเหลือเกินว่าผู้คนต่างรอคอยนับวันให้ถึง ค.ศ. 2024 เพื่อที่จะได้ทราบว่า “จดหมายปรีดี” มีข้อความบันทึกไว้ต้องใจตามที่พวกเขาอยากจะให้เป็นหรือไม่
แน่นอนว่า นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ผู้คร่ำหวอดในแวดวงหลายคน โดยเฉพาะคนที่โด่งดังที่อยู่ในฝรั่งเศสเองก็เคยออกมาวิเคราะห์แล้วว่า “จดหมายปรีดี” ที่ผู้คนทั่วไปเข้าใจกันนั้น น่าจะเป็นเพียง “เอกสารจดหมายเหตุที่รัฐบาลฝรั่งเศสเก็บเอาไว้” มากกว่า แต่ก็ไม่ตัดความเป็นไปได้ที่ชุดเอกสารที่ว่าจะเป็นจดหมายปรีดี ธรรมชาติของมนุษย์นั้นเองยิ่งปิดกั้นยิ่งอยากทราบ ด้วยเหตุนี้ ในช่วงต้นปี 2024 จึงมีความพยายามติดตามเข้าถึงเอกสารชุดดังกล่าวเมื่อหอจดหมายเหตุฝรั่งเศสเปิดให้ใช้บริการ
ความสนใจของผู้คนล้นหลามจนปรากฏว่ามีผู้พยายามเข้าถึงเอกสารชุดดังกล่าวเผยแพร่ภาพสดผ่านช่องทางเฟซบุคเพื่อให้ผู้ชมที่อยู่ที่ไทยติดตามอย่างใจจดใจจ่อ แม้ว่าจะเป็นเอกสารภาษาฝรั่งเศส แต่ก็มีคนช่วยสรุปและได้ค้นพบว่าเอกสารชุดที่ว่าเป็นเพียงเอกสารของทางการฝรั่งเศสที่เกี่ยวข้องกับความพยายามลี้ภัยของปรีดีเท่านั้นเอง ไม่ได้มีเนื้อหาอื่นใดที่คนบางกลุ่มคาดหวัง
ของบางอย่างเมื่อปิดมานาน พอถูกเปิดเข้าก็สิ้นมนตรา เมื่อคนไทยหลายคนทราบว่านี่ไม่ใช่ “จดหมายปรีดี” ที่อาจจะมีเนื้อความอย่างที่เขาคาดหวัง ก็ไม่ได้สนใจที่จะพิจารณาต่อว่าเอกสารดังกล่าวจะมาเติมเต็มเรื่องเล่าในอดีตที่เกี่ยวกับการลี้ภัยของปรีดีไปยังกรุงปารีสอย่างไร และทางการฝรั่งเศสมีส่วนเหลือและเกื้อหนุนในมิติใดบ้าง การคลายความสนใจนี้เองที่เป็นเครื่องบ่งชี้ได้ว่าความสนใจของหลายต่อหลายคนที่มีต่อประวัติศาสตร์ปรีดีนั้นเป็นเพียงความใคร่รู้อย่างถ่องแท้หรือฉาบฉวยกันแน่
เพื่อเติมมิติทางวิชาการสนับสนุนกระแสความสนใจของสาธารณชนต่อ “จดหมายปรีดี” วารสารรัฐศาสตร์นิเทศจึงขอให้ผู้ เข้าถึงเอกสารชุดดังกล่าวและมีความเข้าใจในภาษาฝรั่งเศสอย่างดีเยี่ยมใช้เอกสารชุดนั้นมาเติมเต็มและตีความบทบาทของปรีดีในการลี้ภัยช่วงเวลาดังกล่าว โดยทางวารสารคาดหวังว่าเนื้อหาในบทความที่ว่าและเนื้อหาในบทบรรณาธิการฉบับนี้จะทำหน้าที่เป็นเครื่องบ่งชี้อดีตอย่างหนึ่งที่สะท้อนธรรมชาติบางประการของผู้คนในสังคม ทั้งนี้ เราเชื่อว่า วิธีการแสดงความเคารพปรีดีที่เหมาะสมที่สุดไม่ใช่เป็นการยัดเยียดในสิ่งที่ปรีดีไม่ได้เป็น และยิ่งไม่ใช่เป็นการนำเอาปรีดีมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองในยุคร่วมสมัย แต่ก็คือการศึกษาปรีดีอย่างที่เขาเป็น หรือเรียนรู้ข้อคิดที่เหมาะสมจากเขามากกว่าสิ่งอื่นใด
พีระ เจริญวัฒนนุกูล
บรรณาธิการ
เผยแพร่แล้ว: 02-12-2024