การติดตามผลบัณฑิต สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ปีการศึกษา 2557
Main Article Content
Abstract
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยแบบผสานวิธีทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพ ภาวะการมีงานทำของบัณฑิตสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษาปีการศึกษา 2557 และข้อเสนอแนะ ตลอดจนแนวทางการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเชิงปริมาณ ได้แก่ บัณฑิตสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร จำนวน 17 คน และกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเชิงคุณภาพ บัณฑิตสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร จำนวน 7 คน และผู้ใช้บัณฑิต จำนวน 7 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล คือ แบบสอบถาม และแนวข้อคำถามสนทนากลุ่ม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหาที่ได้จากการจดบันทึกและการถอดเทปบันทึกเสียงเกี่ยวกับความเหมาะสมของหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยได้จัดให้กับนักศึกษาและนำเสนอข้อมูลในรูปความเรียง
ผลการวิจัยพบว่า การติดตามผลบัณฑิต สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ที่สำเร็จการศึกษา 2557 ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง จำนวน 15 คน (ร้อยละ 88.23) รองลงมาคือเพศชาย จำนวน 2 คน (ร้อยละ 11.76) ภาวะการมีงานทำของบัณฑิตได้งานทำ 14 คน (ร้อยละ 82.35) ยังไม่มีงานทำประจำจำนวน 3 คน (คิดเป็นร้อยละ 17.65) ลักษณะงานที่ปฏิบัติ บัณฑิตส่วนใหญ่ทำงานอยู่ภาคเอกชน จำนวน 10 คน (ร้อยละ 71.43) หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ จำนวน 1 คน (ร้อยละ 7.14) ประกอบอาชีพส่วนตัวจำนวน 3 คน (ร้อยละ 21.42) รายได้เฉลี่ยต่อเดือน บัณฑิตส่วนใหญ่มีรายได้จากงานประจำต่อเดือน ระหว่าง 10,000-15,000 บาท จำนวน10 คน (ร้อยละ 71.43) รองลงมาคือ มากกว่า 15,000 บาท จำนวน 4 คน (ร้อยละ 28.57) ปัญหาที่พบในการทำงาน บัณฑิตส่วนใหญ่ปัญหาในการทำงาน (ร้อยละ 21.42) ปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือ งานที่ทำไม่สอดคล้องกับสาขาวิชาที่สำเร็จมา (ร้อยละ 7.14) ทำให้ บัณฑิตส่วนใหญ่ทำงานไม่ตรงสาขาวิชา (ร้อยละ 64.30) การนำความรู้ไปใช้และความพอใจต่อลักษณะงานที่ทำ บัณฑิตส่วนใหญ่ต้องการให้สาขาวิชาเพิ่มเติมความรู้ความสามารถด้านภาษาอังกฤษให้กับนักศึกษา (ร้อยละ 64.71) รองลงมาคือ ด้านคอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 29.41)
ผลการสนทนากลุ่มซึ่งประกอบด้วยอาจารย์ผู้สอน บัณฑิต และผู้ใช้บัณฑิตจำนวนทั้งหมด 7 คน พบว่าบัณฑิตส่วนใหญ่ปัญหาในการทำงานงานที่ทำไม่สอดคล้องกับสาขาวิชาที่สำเร็จมา และบัณฑิตส่วนใหญ่ต้องการให้สาขาวิชาเพิ่มเติมความรู้ความสามารถด้านภาษาอังกฤษและด้านคอมพิวเตอร์ให้กับนักศึกษา