การศึกษาวิเคราะห์เรื่องนกในบทกลอนในมันโยฌู
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
มันโยฌูเป็นหนังสือรวบรวมบทกลอนที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น มีบทกลอน ทั้งสิ้น 4,516 บท บทกลอนส่วนใหญ่แต่งขึ้นโดยใช้คำที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติ เช่น ดวงจันทร์ เมฆหมอก พืชพรรณ สัตว์ แมลง เป็นต้น งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษานกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติและพบในมันโยฌูมากถึงเกือบ 600 บท โดยจะศึกษาความหมายของนก และวิเคราะห์สถานการณ์ ความเป็นไป สภาพจิตใจ ตลอดจนอารมณ์และความรู้สึกของกวีบทกลอน รวมถึงลักษณะการใช้ชีวิตของผู้คนและสภาพสังคมในสมัยนั้น ผ่านการใช้คำเกี่ยวกับนกเหล่านั้น โดยใช้แนวคิดเรื่องคนญี่ปุ่นกับธรรมชาติในวรรณกรรม เพื่อที่จะได้เข้าใจถึงความสัมพันธ์ของคนญี่ปุ่นกับธรรมชาติ ผลการศึกษาพบว่า กวีในมันโยฌูให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับลักษณะเด่นและพฤติกรรมทางธรรมชาติของนกแต่ละชนิดที่มีในบทกลอนมากกว่า 30 ชนิด ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะนก 4 ชนิดซึ่งมีการกล่าวถึงมากตามลำดับ ได้แก่ (1) นกโฮะโตะโตะงิซุ (2) ห่านป่า (3) นกอุงุอิซุ และ (4) นกกระเรียน โดยรับรู้ว่านกชนิดไหนอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบใด มาถึงญี่ปุ่นในฤดูกาลใดอีกทั้งทราบถึงลักษณะการใช้ชีวิตของนกเหล่านั้น และเลือกใช้นกที่เข้ากับสถานการณ์ อารมณ์ความรู้สึกของตนบรรยายเป็นบทกลอนต่าง ๆ บางครั้งนกปรากฏขึ้นในการบรรยายภาพทิวทัศน์ เช่น ห่านป่ากับทัศนียภาพยามฤดูใบไม้ร่วง หรือบรรยายถึงฉากสถานที่ เช่น นกชิโดะริกับลานกรวดริมแม่น้ำ และบางครั้งเสียงของนกใช้ในการเชื่อมโยงถึงอารมณ์ความรู้สึกที่มีในจิตใจ เช่น เสียงของนกกระเรียนฟังแล้วทำให้จิตใจร้อนรุ่มคิดถึงอีกฝ่าย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เราเข้าใจว่าในจิตใจของผู้คนสมัยนั้นไม่มีการปิดกั้นกับสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติ หากแต่เปิดใจรับ สังเกต เรียนรู้ และนำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิต ซึ่งลักษณะเช่นนี้สืบทอดต่อมายังวิถีชีวิตและความคิดของคนญี่ปุ่นในปัจจุบัน
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
ประกาศลิขสิทธิ์จะปรากฏในเกี่ยวกับวารสาร ควรอธิบายสำหรับผู้อ่านและผู้เขียนว่าเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นผู้เขียนวารสารหรือบุคคลที่สาม ควรรวมถึงข้อตกลงการอนุญาตเพิ่มเติม (เช่นใบอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์) ที่ให้สิทธิ์แก่ผู้อ่าน (ดูตัวอย่าง) และควรให้วิธีการรักษาความปลอดภัยหากจำเป็นสำหรับการใช้เนื้อหาของวารสาร