ปัจจัยและพฤติกรรมผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกใช้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต ในกรุงเทพมหานคร ระหว่างบริษัททรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัททริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน)

Main Article Content

ณัฐกฤตา ยังดี
สมศักดิ์ บุตรสาคร

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค และปัจจัยที่มีผลในการตัดสินใจเลือกใช้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในเขตกรุงเทพมหานคร ระหว่างบริษัททรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัททริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน)กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเป็นกลุ่มลูกค้าที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร ที่เลือกใช้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตของบริษัททรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัททริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน)จำนวน 800 ตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสอบถาม สถิติที่ใช้วิเคราะห์ ได้แก่ ความถี่ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิธีการทดสอบสมมติฐานด้านพฤติกรรมผู้บริโภค โดยใช้ T-test, ความแปรปรวนทางเดียว และใช้การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน เพื่อให้ได้โมเดลปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดของทั้ง 2 บริษัท


ผลการวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกใช้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต ระหว่างบริษัททรูคอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) และบริษัททริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล พบว่า ด้านเพศ มีผลต่อพฤติกรรมในเรื่องช่วงเวลาที่เข้าใช้อินเทอร์เน็ตแตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ด้านอายุ และสถานภาพ มีผลต่อพฤติกรรมในเรื่องระยะเวลาจำนวนชั่วโมงที่เข้าใช้อินเทอร์เน็ต แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 ด้านระดับการศึกษา มีผลต่อพฤติกรรมในเรื่องประสบการณ์ที่ได้ใช้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 ด้านอาชีพ มีผลต่อพฤติกรรมในเรื่องประสบการณ์ที่ได้ใช้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต ความถี่ในการใช้อินเทอร์เน็ตต่อสัปดาห์ และระยะเวลาจำนวนชั่วโมงที่เข้าใช้อินเทอร์เน็ต ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 ด้านรายได้ มีผลต่อพฤติกรรมในเรื่อง ประสบการณ์ที่ได้ใช้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต และความถี่ในการใช้อินเทอร์เน็ตต่อสัปดาห์ ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05


ผลการวิจัยปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดที่มีผลในการตัดสินใจเลือกใช้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตระหว่างบริษัททรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัททริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) ผลการวิเคราะห์โมเดลองค์ประกอบเชิงยืนยันของทั้ง 2 บริษัท สอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ดีมาก ซึ่งพบว่าบริษัททรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีค่าน้ำหนักปัจจัยมากที่สุด คือ ด้านการสร้างและนำเสนอลักษณะทางกายภาพมีค่าน้ำหนักเท่ากับ 0.62 และน้อยที่สุดคือ ด้านอัตราค่าบริการมีค่าน้ำหนักเท่ากับ 0.31 ส่วนบริษัททริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) พบว่าค่าน้ำหนักปัจจัยมากที่สุด คือ ด้านการส่งเสริมการตลาด และด้านการสร้างและนำเสนอลักษณะทางกายภาพ มีค่าน้ำหนักเท่ากับ 0.57 และน้อยที่สุดคือ ด้านอัตราค่าบริการเช่นเดียวกันกับบริษัททรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีค่าน้ำหนักที่ 0.37โดยสรุปได้ว่า ปัจจัยที่สำคัญในการตัดสินใจเลือกใช้บริการจะอยู่ในรูปแบบที่ไม่ใช่ราคา เช่น ปัจจัยด้านการสร้างและนำเสนอลักษณะทางกายภาพซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่บริษัทสามารถสร้างคุณค่าเพื่อก่อให้เกิดความประทับใจให้กับลูกค้านำไปสู่การตัดสินใจเลือกใช้บริการต่อไป

Article Details

บท
บทความวิจัย
Author Biographies

ณัฐกฤตา ยังดี

นักศึกษาหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ

สมศักดิ์ บุตรสาคร

อาจารย์คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ

References

ชนม์ชนก ชิตประเสริฐ. (2556). การเปรียบเทียบความคาดหวัง และการรับรู้คุณภาพการบริการระหว่างศูนย์บริการลูกค้า บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และศูนย์บริการลูกค้า บริษัทโทเทิ่ลแอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน). วิทยานิพนธ์,สาขาบริหารธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

บุญชม ศรีสะอาด. (2545). การวิจัยเบื้องต้น. พิมพครั้งที่ 7.กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาสน

ศุภิศา พุ่มเดช ชิดชนก ชะโนรับ และวิจิตรา สนิท. (2560). การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนที่มีต่อการท่องเที่ยวโดยชุมชน ตำบลบางนำผึ้ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ. วารสารวิชาการนอร์ทเทิร์น,ปีที่ 3.

สมศักดิ์ บุตรสาคร. (2555). การวิเคราะห์องค์ประกอบที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาการโปรแกรมภาษาคอมพิวเตอร์ของนักศึกษาสาขาวิชาระบบสารสนเทศมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ.

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) (ผู้ผลิต). (2559). รายงานดัชนีชี วัดในกิจการโทรคมนาคมของประเทศ ประจำปี 2558 - 2559. กรุงเทพมหานคร.

Cronbach, Lee Joseph. (1951). Coefficient Alpha and the Internal Structure of Tests. Psychometrika 16 Cronbach’s Alpha Coefficient.