จริยธรรมการตีพิมพ์
วารสารราชภัฏเพชรบูรณ์สาร
วารสารราชภัฏเพชรบูรณ์สาร ให้ความสำคัญกับการรักษามาตรฐานด้านจริยธรรมในการตีพิมพ์เผยแพร่บทความ ดังนั้นเพื่อรักษามาตรฐานด้านจริยธรรมในการตีพิมพ์เผยแพร่บทความ จึงได้กำหนดให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามหลักการและมาตรฐานด้านจริยธรรมในการตีพิมพ์อย่างเคร่งครัด ดังนี้
บทบาทหน้าที่ของผู้นิพนธ์
1. บทความที่ส่งมาเพื่อพิจารณาตีพิมพ์นั้นต้องเป็นบทความใหม่ และต้องไม่เคยตีพิมพ์หรือเผยแพร่ที่ใดมาก่อน
2. ผู้นิพนธ์ที่มีชื่อปรากฏในบทความทุกคนต้องเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการดำเนินการทำผลงานทางวิชาการนั้นจริง
3. ผู้นิพนธ์ต้องทำการอ้างอิงให้ถูกต้องทุกครั้งเมื่อนำผลงานของผู้อื่นมาใช้ในบทความของตน โดยต้องจัดทำรายการอ้างอิงในท้ายของบทความ และต้องไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่น
4. บทความต้องมีรูปแบบตามที่วารสารกำหนดไว้ในหลักเกณฑ์และรูปแบบการเตรียมต้นฉบับบทความ
5. ผู้นิพนธ์ต้องไม่นำผลงานไปเผยแพร่หรือตีพิมพ์กับแหล่งอื่น ๆ หลังจากที่ได้รับการตีพิมพ์กับวารสารราชภัฏเพชรบูรณ์สารแล้ว
6. บทความวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยในมนุษย์หรือผลการวิจัยมีประเด็นที่เปราะบางต่อผู้ให้ข้อมูล ผู้นิพนธ์ควรดำเนินการตามหลักจริยธรรม ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยให้แนบหลักฐานการรับรองมาพร้อมกับบทความที่ส่งให้กับกองบรรณาธิการ (ถ้ามี)
บทบาทหน้าที่ของกองบรรณาธิการ
1. พิจารณาและตรวจสอบบทความที่รับมาเพื่อลงตีพิมพ์ในวารสารที่ตนรับผิดชอบ โดยพิจารณาความสอดคล้องกับขอบเขต ความชัดเจน ความทันสมัย และเป้าหมายของวารสาร
2. ไม่รับการตีพิมพ์บทความที่เคยได้รับการตีพิมพ์จากที่อื่น ๆ มาแล้วโดยเด็ดขาด
3. ใช้เหตุผลทางวิชาการในการพิจารณาบทความเป็นหลัก โดยปราศจากอคติที่มีต่อผู้นิพนธ์และบทความที่พิจารณา
4. ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้นิพนธ์บทความหรือผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ ไม่นำบทความหรือวารสารไปใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจหรือนำไปเป็นผลงานทางวิชาการของตนเอง
5. ไม่ปิดกั้น ไม่แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาบทความและผลประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ หรือแทรกแซงข้อมูลที่ใช้แลกเปลี่ยนระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความและผู้นิพนธ์
6. ต้องปฏิบัติตามกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ของวารสารอย่างเคร่งครัด
บทบาทหน้าที่ของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ
1. การประเมินบทความต้องคำนึงถึงคุณภาพบทความเป็นหลัก การพิจารณาบทความอยู่ภายใต้หลักการและเหตุผลทางวิชาการโดยปราศจากอคติ และผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้นิพนธ์
2. การประเมินบทความต้องไม่แสวงหาประโยชน์จากผลงานทางวิชาการที่ตนเองได้ทำการประเมิน
3. การประเมินบทความต้องตระหนักว่าตนเองมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในเนื้อหาของบทความที่รับประเมินอย่างแท้จริง
4. หากผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความตรวจสอบพบว่าบทความที่ประเมินเป็นบทความที่คัดลอกผลงานผู้อื่น ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความต้องแจ้งให้กองบรรณาธิการทราบทันที พร้อมแสดงหลักฐานประกอบ
5. ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความต้องรักษาระยะเวลาประเมินตามกรอบเวลาที่กำหนด รวมถึงไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทราบ