การบริหารจัดการและพัฒนาสื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ อำเภอเขาค้อจังหวัดเพชรบูรณ์

Main Article Content

รักชนก สมศักดิ์
ปิยะนุช พรหมประเสริฐ

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่อง การบริหารจัดการและพัฒนาสื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ ได้แก่ 1)  เพื่อศึกษาบริบทของกลุ่มโฮมสเตย์ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ 2) เพื่อศึกษากระบวนการบริหารจัดการและประเมินทรัพยากรการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ 3) เพื่อพัฒนาสื่อประชาสัมพันธ์กลุ่มโฮมสเตย์ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยวิธีการดำเนินวิจัยใช้แนวทางศึกษาเชิงคุณภาพ ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก และการสังเกตการณ์ (Observation) โดยกลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลัก (Key informant) ที่ใช้ในการวิจัยนี้ได้แก่ กลุ่มผู้นำสมาชิกโฮมสเตย์ กลุ่มชาวบ้านในชุมชน รวมผู้ให้ข้อมูลหลัก 8 คน และนำข้อมูลที่เก็บรวบรวมทั้งหมดมาวิเคราะห์


ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มโฮมสเตย์ขนาดเล็กมีสมาชิกกลุ่มที่ผ่านมาตรฐานโฮมสเตย์ประมาณ 5-7 หลัง มีลักษณะการดำเนินกิจการในองค์การที่มีขนาดเล็ก มีกระบวนการบริหารจัดการแบบสมัยใหม่ภายใต้กระบวนการจัดการแบบ POLC  ที่สามารถนำพาองค์การให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ มีผู้นำกลุ่มที่มีความสามารถ กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก กล้าตัดสินใจในการดำเนินกิจการ ทำให้เริ่มเป็นที่รู้จักและมีนักท่องเที่ยวเข้ามาพักและท่องเที่ยวในชุมชนจำนวนมาก มีหน่วยงานเข้ามาศึกษาเรียนรู้ดูงานจำนวนมาก และมีสื่อโทรทัศน์ให้ความสนใจมาถ่ายทำรายการสารคดี ทำให้โฮมสเตย์เสลียงแห้ง 3 เป็นที่รู้จักและนำไปสู่การพัฒนาตนเอง มีการควบคุมด้านมาตรฐานการให้บริการบ้านพักที่เหมาะสม เน้นความสะอาดถูกสุขลักษณะไม่แออัดคับแคบ รวมถึงมีการควบคุมเรื่องราคาที่พักและค่าบริการอื่นๆ ให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ทำให้มีนักท่องเที่ยวให้ความไว้วางใจและชักชวนบอกต่อไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวรายใหม่เข้ามาท่องเที่ยวในชุมชนมากขึ้น


            ผลการวิจัยทางด้านการพัฒนาสื่อประชาสัมพันธ์กลุ่มโฮมสเตย์ พบว่า มีการบริหารจัดการตนเองภายใต้งบประมาณที่มีค่อนข้างน้อยในลักษณะที่ใช้งบแบบประหยัด มีสื่อประชาสัมพันธ์เป็นของตนเองได้ จึงเลือกพัฒนาสื่อประชาสัมพันธ์เฉพาะกิจ ได้แก่ 1) สื่อแผ่นพับเพื่อเผยแพร่ไปยังกลุ่มเป้าหมายหลักอาทิ กลุ่มนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวชมวิถีชีวิตในชุมชน นักเรียน นักศึกษา เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐและเอกชนที่สนใจ 2) สื่อป้ายกลางแจ้ง ติดตั้งในจุดทำเลที่น่าสนใจในพื้นที่ 3) สื่อวัตถุสินค้าที่พัฒนาขึ้นจากชุมชนเพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ของฝากของที่ระลึกจากชุมชน สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชนอีกทางหนึ่ง และ  4)สื่อสังคมออนไลน์ (เพจเฟสบุค) เพื่อสื่อสารประชาสัมพันธ์แบบสองทางสามารถสื่อสารได้ทั้งข้อความตัวอักษร ข้อความเสียง ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ให้กับผู้ที่เข้ามาชมที่หน้าเพจสามารถเห็นข้อความนั้นได้ทันที รวมถึงการโต้ตอบระหว่างกันได้อย่างกว้างไกลและรวดเร็ว

Article Details

บท
บทความวิจัย
Author Biographies

รักชนก สมศักดิ์

อาจารย์ สาขาการประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์

ปิยะนุช พรหมประเสริฐ

อาจารย์ สาขาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์

References

กาญจนา แก้วเทพ. (2557). การสื่อสาร-การท่องเที่ยว. กรุงเทพฯ : ภาพพิมพ์.

กาญจนา แก้วเทพ สุชาดา พงศ์กิตติวิบูลย์ และทิพย์พธู กฤษสุนทร. (2554). สื่อพื้นบ้านศึกษาในสายตานิเทศศาสตร์. กรุงเทพฯ : ภาพพิมพ์.

กรมการท่องเที่ยว (มปป.). (2560). มาตรฐานโฮมสเตย์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.homestaythai.net/Homepages. (วันที่ค้นข้อมูล : 8 เมษายน 2560).

เทพศักดิ์ บุญยรัตพันธุ์. (2553). ในองค์การและการจัดการทรัพยากรมนุษย์. นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ธิติรัฐ ธรรมจง. (2553). การสื่อสารการตลาดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม : ศึกษาเฉพาะกรณี ตลาดเก่า 119 ปี เจ็ดเสมียน จังหวัดราชบุรี. วิทยานิพนธ์วารสารศาสตรมหาบัณฑิต, คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ปรีชัย นามสิมมา. (2560). ผู้นำกลุ่มโฮมสเตย์บ้านเสลียงแห้ง3 ต.หนองแม่นา อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์. ให้สัมภาษณ์, 22 พ.ค. 2560. รักชนก สมศักดิ์ ผู้สัมภาษณ์. กระบวนการบริหารจัดการกลุ่มโฮมสเตย์เสลียงแห้ง 3

สถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน (มปป.). (2560). ชุมชนหนองแม่นา. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.cbt-i.or.th. (วันที่ค้นข้อมูล : 30 มิถุนายน 2560).

สมพงษ์ ตุ้มคำ. (2560). ผู้นำกลุ่มโฮมสเตย์บ้านหนองแม่นา ต.หนองแม่นา อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์. ให้สัมภาษณ์, 16 ก.พ. 2560. รักชนก สมศักดิ์ ผู้สัมภาษณ์. กระบวนการบริหารจัดการกลุ่มโฮมสเตย์บ้านหนองแม่นา