ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินคดีเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย กรณีร่วมกันกำหนดราคาอันเป็นการผูกขาดหรือลดการแข่งขัน หรือจำกัดการแข่งขัน

ผู้แต่ง

  • วาทิณี คำดี
  • รุ่งแสง กฤตยพงษ์

คำสำคัญ:

ค่าเสียหาย, การผูกขาด, ลดการแข่งขันหรือจำกัดการแข่งขัน

บทคัดย่อ

กฎหมายแข่งขันทางการค้า ถูกบัญญัติขึ้นโดยมีเจตนารมณ์ในการสนับสนุนส่งเสริมกลไกการแข่งขันของตลาดให้มีการประกอบธุรกิจให้เป็นไปอย่างเสรี และป้องกันไม่ให้มีการผูกขาดทางการค้าเกิดขึ้น การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการด้วยกันต้องเกิดจากการเสนอขายสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพและราคาเหมาะสมให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งหากการแข่งขันอย่างเสรีนั้นเป็นไปตามกลไกลของตลาดแล้ว ย่อมเกิดความยุติธรรมกับทั้งผู้ประกอบการด้วยกันเองและผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าหรือบริการนั้น ในประเทศไทยได้บัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้าครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2480 หากแต่ยังไม่มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้อย่างเต็มที่  เนื่องจากกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของประเทศไทยไม่ให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าโดยเอกชน แต่จะให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายโดยองค์กรของรัฐ จากการศึกษาพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ผู้เขียนมีความเห็นว่าควรกำหนดให้องค์กรของรัฐมีอำนาจในการตั้งเรื่องพิจารณาความผิดของผู้ประกอบการได้โดยไม่จำต้องมีการร้องเรียนจากผู้เสียหายก่อน รวมทั้งมีอำนาจในการสอบสวนและมีคำวินิจฉัยว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติหรือไม่ เมื่อมีคำวินิจฉัยแล้ว ผู้ที่ได้รับความเสียหายก็สามรถใช้สิทธิทางกฎหมายฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้กระทำการอันฝ่าฝืนได้ โดยกฎหมายที่บัญญัติให้เอกชนเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายนั้น บัญญัติอยู่ในพระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มาตรา 69 ที่บัญญัติให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกำหนดราคาซื้อหรือราคาขายสินค้าหรือบริการอันเป็นการผูกขาดหรือลดการแข่งขันหรือจำกัดการแข่งขัน มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายจากผู้ประกอบการที่มีพฤติการณ์ฝ่าฝืนบทบัญญัติได้ ซึ่งหากมีคำวินิจฉัยที่ถูกพิจารณาและรับรองโดยองค์กรของรัฐแล้ว ผู้เสียหายก็ไม่จำต้องพิสูจน์ความผิดของจำเลยอีก

     จากการศึกษาพบว่า การฟ้องคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายในคดีแข่งขันทางการค้าโดยเอกชนนั้น ยังไม่ครอบคลุมถึงค่าเสียหายที่ผู้เสียหายควรจะได้รับจากผู้ประกอบการที่มีพฤติการณ์ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติ  การพิจารณาโดยนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 มาปรับใช้  ไม่อาจเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้น การกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษ จะทำให้การฟ้องคดีของผู้ประกอบการหรือผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย มีประสิทธิภาพและได้รับการชดใช้มากขึ้น ทั้งเป็นการยับยั้งและป้องปรามผู้กระทำความผิดไม่ให้กระทำผิดซ้ำอีก ทำให้เกิดความเกรงกลัวต่อกฎหมาย และผู้เสียหายได้มีส่วนร่วมในการใช้กฎหมายอันจะทำให้ผู้ประกอบการที่คิดจะทำการฝ่าฝืนเกิดความเกรงกลัวต่อกฎหมาย เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้นการนำหลักการกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษมาปรับใช้ในการกำหนดค่าเสียหายในคดีแข่งขันทางการค้าจึงเป็นมาตรการที่ควรนำมาบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้ตรงตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าในประเทศไทย

     ผู้เขียนขอเสนอให้มีบทบัญญัติเรื่องค่าเสียหายเชิงลงโทษไว้ในพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายโดยเอกชนมีประสิทธิภาพและได้รับการชดใช้มากขึ้น ทั้งเป็นการยับยั้ง ป้องปราม พฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย และให้มีบทบัญญัติกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าให้มีอำนาจริเริ่มดำเนินการพิจารณาความผิดได้เอง หากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าพบว่า ผู้ประกอบการในตลาดมีพฤติการณ์ฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่จำต้องรอให้ผู้เสียหายร้องเรียนมายังสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเสียก่อน เพื่อให้การดำเนินคดีโดยเอกชนมีประสิทธิภาพสูงสุดและลดภาระการพิสูจน์ของผู้เสียหายอีกด้วย

 

 

Author Biographies

วาทิณี คำดี

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

รุ่งแสง กฤตยพงษ์

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

References

ประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์

พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560

ประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง หลักเกณฑ์การเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด พ.ศ. 2550

ศักดา ธนิตกุล. (2551). คำอธิบายและกรณีศึกษาพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542. กรุงเทพฯ: วิญญูชน.

ศักดา ธนิตกุล. (2553). คำอธิบายและกรณีศึกษาพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542. กรุงเทพฯ: วิญญูชน.

จิตรา เพียรล้ำเลิศ. (ม.ป.ป.). เอกสารประกอบการสอน หน่วยที่ 8 ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. กรุงเทพฯ

ภูชิต โมกขมรรคกุล. (2543). กฎหมายการแข่งขันทางการค้าในประเทศไทย. รายงานการวิจัย. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.

สุธีร์ ศุภนิตย์. (2549). หลักการและกฎเกณฑ์แห่งพระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 (Principle and Rules of the Competition Act of 1999). ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ สุธีร์ ศุภนิตย์ ม.ว.ม. ป.ช. ณ เมรุวัดโสมนัสวิหาร. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-05-31