แนวคิดเรื่องธุรกิจเพื่อสังคมของมูฮัมหมัด ยูนุส

ผู้แต่ง

  • Nantakarn Sombatsawat Chiang Mai University

คำสำคัญ:

มูฮัมหมัด ยูนุส, พุทธทาส ภิกขุ, ธุรกิจเพื่อสังคม

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงประเด็นความหมาย เป้าหมาย และวิธีการ ของแนวคิดเรื่องธุรกิจเพื่อสังคมของ มูฮัมหมัด ยูนุส และนำแนวคิดดังกล่าวมาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์กับแนวคิดธัมมิกสังคมนิยมของพุทธทาส ภิกขุ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่หลากหลายยิ่งขึ้น โดยวิธีการวิจัยเอกสาร เรียบเรียงและนำมาวิเคราะห์ ผลการศึกษาพบว่า ความหมายของแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคมของ มูฮัมหมัด ยูนุส คือ การทำธุรกิจใดๆก็ตามโดยตั้งสมมติฐานอยู่บนความไม่เห็นแก่ตัวของมนุษย์ โดยออกแบบกิจการให้บรรลุเป้าหมายทางสังคม มิใช่เป้าหมายทางกำไร ในแง่ของการลงทุน ผู้ลงทุนในธุรกิจเพื่อสังคมจะไม่ได้รับเงินปันผลใดๆนอกเหนือจากต้นทุนที่ลงไปในตอนเริ่มกิจการ และจะได้รับคืนต่อเมื่อกิจการสามารถประคับประคองตัวเองและพัฒนาได้อย่างยั่งยืน ส่วนสินค้าและบริการใดๆที่ได้จากกรรมวิธีการผลิตนั้นจะออกสู่ตลาดในราคาที่ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งก็คือคนจนผู้เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ธุรกิจเพื่อสังคมมีเป้าหมายอยู่ที่การแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังอยู่ในปัจจุบัน เช่น ปัญหาความยากจน ความหิวโหย การขาดการศึกษา และให้ความช่วยเหลือ พัฒนาศักยภาพของคนจนให้สามารถประคับประคอง ช่วยเหลือตนเองและครอบครัวได้ วิธีการของธุรกิจเพื่อสังคมนั้นไม่ต่างกับการทำธุรกิจในแนวคิดทุนนิยมเสรี คือผู้ประกอบการจะออกแบบโครงสร้าง และบริหารให้กิจการเจริญเติบโต สิ่งเดียวที่แตกต่างคือผลกำไรนั้นจะไม่ตกเป็นของผู้ลงทุน แต่จะนำกำไรส่วนนั้นไปใช้ในการพัฒนากิจการธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อให้ความช่วยเหลือคนยากจนหรือผู้ขาดแคลนใดๆก็ตามต่อไป

            เมื่อวิเคราะห์แนวคิดธุรกิจเพื่อสังคมผ่านมุมมองหลักการธัมมิกสังคมนิยมจะเห็นได้ว่ามีความเชื่อมโยงกัน ทั้งในประเด็นการถือซึ่งประโยชน์ส่วนรวม การควบคุมตัวเองและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน และการให้ความเคารพนับถือและเมตตากรุณาต่อกัน จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่ากระบวนการทำงานของธนาคารกรามีนนั้นดำเนินการอย่างเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่เพียงแต่สมาชิกซึ่งเป็นผู้กู้ แต่ในฐานะของผู้ทำธุรกิจ มูฮัมหมัด ยูนุส ก็ได้สร้างบทบาทของผู้ประกอบการซึ่งมีอำนาจทางเศรษฐกิจ ให้ลดความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนลง และหันมาสนใจการทำธุรกิจอย่างเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมซึ่งย่อมส่งผลกระทบในทางบวก อีกทั้งแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคมนั้นยังดำเนินอย่างไม่ขัดแย้งกับศาสนา และสนับสนุนให้ผู้คนศึกษาศาสนาให้ดี และพัฒนาชีวิตตนเองให้ดีขึ้นไปพร้อมกัน ซึ่งตรงกับปณิธานของ พุทธทาส ภิกขุ เป็นอย่างยิ่ง ทั้งสองแนวคิดเป็นแนวคิดเพื่อการพัฒนาที่มีความสัมพันธ์กัน ซึ่งถ้าหากนำมาประกอบกัน จะสามารถเป็นทางเลือกของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่สมบูรณ์

References

ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา, สุรีย์พร พันพึ่ง และรัชพันธุ์ เชยจิตร. (2548). ปัจจัยเชิงโครงสร้างที่มีผลต่อ
ความยากจน. นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.
พุทธทาส ภิกขุ. (2529). ธัมมิกสังคมนิยม. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง.
พุทธทาส ภิกขุ. (2548). การเมืองคืออะไร? หนทางรอดของมนุษย์คือธรรมิกสังคมนิยม และพุทธ ทาสลิขิตข้อคิดทางการเมือง. นครศรีธรรมราช: กลุ่มศึกษาสวนโมกข์ สวนสร้างสรรค์ นาคร-
บวรรัตน์ และสุธีรัตนามูลนิธิ.
พุทธทาส ภิกขุ. (2549). พุทธทาสธรรม11: เศรษฐศาสตร์พุทธศาสนา. กรุงเทพฯ. สุขภาพใจ.
พุทธทาส ภิกขุ. (2549). ปณิธาน ๓ ประการ. ธรรมสภา.
มูฮัมหมัด ยูนุส. (2553). นายธนาคารเพื่อคนจน. แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล. กรุงเทพฯ :
สำนักพิมพ์มติชน.
มูฮัมหมัด ยูนุส. (2555). สร้างโลกไร้จน. แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติ
ชน.
สุทธิศักดิ์ ไกรสรสุธาสินี. (2556). ความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม Corporate Social
Responsibility. กรุงเทพฯ: คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
Muhammad Yunus. (2003). Banker to the Poor: Micro-Lending and the Battle against World
Poverty. United States of America: Public Affairs.
Muhammad Yunus. (2008). Creating a World without Poverty: Social Business and the
Future of Capitalism. United States of America: Public Affairs.
Muhammad Yunus. (2010). Building Social Business: The New Kind of Capitalism that
Serves Humanity's Most Pressing Needs. United States of America: Public Affairs.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

06-10-2018