ชีปะขาวในสังคมล้านนา

ผู้แต่ง

  • รศ.ดร.วิโรจน์ อินทนนท์

คำสำคัญ:

ชีปะขาว, มรรควิถี, สังคมล้านนา

บทคัดย่อ

แนวคิดเรื่องชีปะขาวเป็นแนวคิดที่มีมานานแล้ว พบได้ทั้งในอินเดีย อียิปต์ ปาเลสไตน์ แต่มีชื่อเรียกผู้ที่เป็นชีปะขาวแตกต่างกันออกไป เช่น สันยาสี ฤาษี ดาบส ปริพาชก หรือแม้กระทั่งสมณะ การแต่งกายก็มีแบบต่าง ๆ กัน คือ นุ่งห่มด้วยหนังสัตว์ นุ่งห่มด้วยผ้าเปลือกไม้ ผ้าย้อมน้ำฝาด และนุ่งห่มด้วยผ้าขาวล้วน กิจวัตรประจำวันคือการสวดมนต์ ทำสมาธิภาวนา และให้คำชี้แนะแก่ประชาชนผู้มาขอคำชี้แนะ สังคมไทยได้รับเอาแนวคิดนี้มาพร้อมกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และพุทธศาสนา จนกลายมาเป็นรูปแบบปฏิบัติของฤาษี ชีปะขาวและแม่ชี ในสังคมล้านนาชีปะขาวถูกเรียกว่าผ้าขาว โดยมีข้อความปรากฏเกี่ยวกับผ้าขาวอยู่ในคัมภีร์หลายแห่ง เช่น มูลศาสนา จามเทวีวงส์ ผ้าขาวนั้นมีอยู่หลายประเภทด้วยกัน คือ ผ้าขาวที่สมาทานรักษาศีล 5 หรือศีล 8 ไม่โกนผม ผ้าขาวที่สมาทานรักษาศีล 5 หรือศีล 8 และโกนผม ผ้าขาวที่สมาทานรักษาศีล 226 โกนผมและคิ้ว ผ้าขาวประเภทหลังนี้จะได้รับความเคารพเลื่อมใสจากประชาชนไม่ต่างไปจากพระภิกษุ เช่น ผ้าขาวปี เป็นต้น

      เมื่อล้านนาได้รับอิทธิพลจากภายนอกทำให้แนวคิดนี้เปลี่ยนแปลงไป การบวชเป็นพระตอนแก่ได้รับการยอมรับจากประชาชนมากขึ้น จึงไม่มีคนบวชเป็นผ้าขาวอีก จะมีก็แต่ผ้าขาวที่รักษาอุโบสถศีลเป็นเวลา 1 วันและ 1 คืนเท่านั้น ในขณะเดียวกัน ก็เกิดมีผ้าขาวอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมเกิดขึ้น คือ ผ้าขาวผู้หญิงหรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “แม่ชี” ผ้าขาวประเภทนี้สมาทานรักษาศีล 8 โกนผม อาศัยอยู่ในวัด ประชาชนเป็นจำนวนมากให้การยอมรับนับถือถึงแม้ว่าจะไม่เสมอเท่าภิกษุและสามเณรก็ตาม

References

กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย. (2543). ภารตวิทยา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศยาม.
จำนงค์ ทองประเสริฐ. (2539). ปรัชญาประยุกต์ชุดอินเดีย. กรุงเทพฯ : บริษัทต้นอ้อ แกรมมี่ จำกัด.
พระพุทธพุกามและพระพุทธญาณ. (2519). ตำนานมูลศาสนา. กรุงเทพฯ : เสริมวิทย์บรรณาคาร.
ธรรมมูลลโลก. พับสาของวัดบวกค้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
ธรรมอธิบายคำสั่งสอน (คำสอนผ้าขาว). วัดแช่ช้าง ตำบลแช่ช้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
บำเพ็ญ ระวิน (ปริวรรต). (2538). มูลศาสนา สำนวนล้านนา. คณะมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
พิชิต อัคนิจ และคณะ. (2541). การศึกษาเชิงวิเคราะห์ปัญญาสชาดกฉบับล้านนาไทย (A Critical
Study of Nortern Thai Version of Pannasa Jataka). โครงการปริวรรตวรรณกรรม
ล้านนาไทย ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
มหามกุฏราชวิทยาลัย. (2514). ธรรมบท ภาค 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย.
สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ. (2542). กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย
ธนาคารไทยพาณิชย์.
วิทยานิพนธ์
ลัดดาวัลย์ ต๊ะมาฟู. (2548). แม่ชี : โลกของผู้หญิงที่ถูกลืม. วิทยานิพนธ์สังคมศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชาสตรีศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
สัมภาษณ์
พ่อหนานอิ่น แสงขอดมา, 10 มกราคม 2551

Downloads

เผยแพร่แล้ว

11-10-2018