การศึกษาความพึงพอใจต่อแหล่งท่องเที่ยวที่ส่งผลต่อการกลับมาเยือนซ้ำ ณ บ่อน้ำพุร้อนฝาง อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก จังหวัดเชียงใหม่
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวชาวไทยเปรียบเทียบกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ณ บ่อน้ำพุร้อนอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก จังหวัดเชียงใหม่ 2. เพื่อเปรียบเทียบระดับความพึงพอใจตามลักษณะประชากรของนักท่องเที่ยวชาวไทยกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ณ บ่อน้ำพุร้อนอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก จังหวัดเชียงใหม่ 3. เพื่อศึกษาอิทธิพลของความพึงพอใจที่มีผลต่อการกลับมาเยือนซ้ำ ระหว่างนักท่องเที่ยวชาวไทยกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ณ บ่อน้ำพุร้อนฝาง อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาวิจัยเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยจำนวน 200 คน และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จำนวน 200 คน รวมทั้งหมดจำนวน 400 คน ในช่วงเดือนมีนาคม-เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562และใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) เป็นเครื่องมือในการวิจัย สำหรับสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ (Percentage) การแจกแจงความถี่ (Frequency statics) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard of Deviation) ค่าเฉลี่ย (Mean) สถิติการทดสอบค่าที (T-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way Anova) การวิเคราะห์องค์ประกอบ (Factor Analysis) การวิเคราะห์การถดถอย (Regression Analysis) 2 โมเดลเพื่อเปรียบเทียบนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ทั้งนี้ผู้วิจัยได้กำหนดค่านัยสำคัญทางสถิติไว้ที่ระดับ .05
ซึ่งผลการวิจัยพบว่า จากจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 400 คน นักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุ 15 – 25 ปี มีสถานภาพโสด เป็นนักเรียน/นิสิต/นักศึกษา และมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน การศึกษาอยู่ในระดับการศึกษามัธยมปลาย นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุ 46 –55 ปี มีสัญชาติเอเชียตะวันออก มีสถานภาพโสด เป็นเจ้าของกิจการ/ธุรกิจส่วนตัว และมีรายได้เฉลี่ย 105,001-135,000 บาท บาทต่อเดือน ส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาปริญญาตรี ผลการวิเคราะห์ระดับความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวชาวไทยมาท่องเที่ยวที่บ่อน้ำผุร้อนฝางแล้ว เกิดความพึงพอใจโดยรวมอยู่ในระดับมาก แบ่งตามระดับความคิดเห็นพบว่า ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความพึงพอใจมากที่สุดต่อนักท่องเที่ยวชาวไทย คือ 1)ด้านบุคลากรผู้ให้บริการ 2)ด้านสิ่งอำนวยความสะดวกภายในแหล่งท่องเที่ยว 3)ด้านสิ่งดึงดูดใจ4)ด้านการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว และ5)ด้านกิจกรรมการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาท่องเที่ยวที่บ่อน้ำผุร้อนฝางแล้ว เกิดความพึงพอใจโดยรวมอยู่ในระดับมาก แบ่งตามระดับความคิดเห็นพบว่า ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความพึงพอใจมากที่สุดต่อนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ คือ 1)ด้านบุคลากรผู้ให้บริการ 2) ด้านสิ่งดึงดูดใจ 3)ด้านสิ่งอำนวยความสะดวกภายในแหล่งท่องเที่ยว 4)ด้านการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว และ 5) ด้านกิจกรรมการท่องเที่ยว ผลการวิเคราะห์แนวโน้มการกลับมาเยือนซ้ำของนักท่องเที่ยวชาวไทยกับชาวต่างชาติโดยรวมอยู่ในระดับแน่นอน เมื่อพิจารณารายข้อพบว่าข้อที่มีคะแนนสูงที่สุด ได้แก่ นักท่องเที่ยวจะแนะนำบอกต่อ/แนะนำ ให้คนอื่นรู้เกี่ยวกับบ่อน้ำพุร้อนฝาง รองลงมาคือ นักท่องเที่ยวตั้งใจจะกลับมาท่องเที่ยวที่บ่อน้ำพุร้อนฝางอีกครั้ง นักท่องเที่ยวจะพักที่บ่อน้ำพุร้อนฝางนานขึ้นในการมาเที่ยวครั้งต่อไป และกิจกรรมที่นี่ทำให้นักท่องเที่ยวอยากกลับมาเยือนบ่อน้ำพุร้อนฝางอีก ผลการวิเคราะห์ปัจจัยความพึงพอใจที่มีอิทธิพลต่อการกลับมาเยือนซ้ำของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ คือนักท่องเที่ยวมีความพึงพอใจต่อด้านสิ่งดึงดูดใจ ด้านสิ่งอำนวยความสะดวกภายในแหล่งท่องเที่ยว ด้านการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว ด้านกิจกรรมการท่องเที่ยวและในด้านบุคลากรผู้ให้บริการ ซึ่งเป็นสาเหตุที่มีอิทธิพลต่อการกลับมาเยือนซ้ำ ณ บ่อน้ำพุร้อนฝาง อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก จังหวัดเชียงใหม่
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
เนื้อหาและข้อมูลในบทความที่ลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการวิทยาลัยสันตพล ถือว่าเป็นข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรง ซึ่งกองบรรณาธิการวารสารไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยหรือรับผิดชอบใดๆ
References
แคทรียา ปันทะนะ (2557). ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวที่มีต่ออุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา.
ณัฐธยาน์ ชุณหวิริยะกุล (2561). การศึกษาปัจจัยแห่งความพึงพอใจที่ส่งผลต่อการกลับมาเยือนซ้ำจังหวัดเชียงใหม่ กรณีศึกษาเปรียบเทียบระหว่างนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ. วารสารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 สิงหาคม - พฤศจิกายน. 2561.
ปัญญา พงษ์ยิหวา. (2548). ความพึงพอใจโดยรวมและแนวโน้มการซื้อซ้ำของลูกค้าผลิตภัณฑ์เครื่องถ่ายเอกสารยี่ห้อKonica ของบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อิสท์ วิศวการ จำกัด(มหาชน)ในเขตภาคใต้ตอนบน. สารนิพนธ์ บธ.ม. (การจัดการ). กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ. ถ่ายเอกสาร.
สุนิษา เพ็ญทรัพย์ และ ปวันรัตน์แสงสิริโรจน์. (2555). พฤติกรรมและความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวชาวไทยต่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กรณีศึกษาบ่อน้ำพุร้อนรักษะวาริน อำเภอเมือง จังหวัดระนอง. มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา
สวรรยา วัฒนศิริเสรีกุล. (2554). ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจกลับมาเที่ยวประเทศซ้ำของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ. บัณฑิตคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ศศิธร สามารถ. (2545). ความพึงพอใจและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวไทยในจังหวัดกระบี่. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.