10. มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการไถ่ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2562

Main Article Content

ภานุพงศ์ สายเจริญ

บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยเรื่อง มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการไถ่ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองประชาชนในการทำสัญญา
ขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2562  ศึกษากรณีกระบวนการไถ่ทรัพย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิด
หลักการเกี่ยวกับการขายฝากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และพระราชบัญญัติคุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2562 และวิเคราะห์ปัญหาการใช้และการตีความพระราชบัญญัติคุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2562 และศึกษาแนวทางการแก้ไขจากกฎหมาย ระเบียบ ประกอบกับแนวปฏิบัติต่าง ๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับกฎหมายขายฝากของประเทศไทยและกฎหมายขายฝากของต่างประเทศ เพื่อหาแนวทาง
ในการแก้ไข ทบทวน ปรับปรุง พัฒนาพระราชบัญญัติคุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2562 และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ให้ชัดเจน ครอบคลุม และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน


ผลการศึกษาพบว่า การทำนิติกรรมขายฝากตามพระราชบัญญัติคุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2562 มีปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในกระบวนการไถ่ทรัพย์ที่เอื้อให้ผู้ซื้อฝากมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจเหนือกว่าเอารัดเอาเปรียบผู้ซื้อฝาก โดยเมื่อครบกำหนดเวลาไถ่ตามสัญญาผู้ขายฝากไม่สามารถนำเงินมาไถ่ได้จะทำให้ผู้ซื้อฝากเรียกรับผลประโยชน์ต่าง ๆ แลกกับการยอมขยายระยะเวลาการไถ่จากขายฝากออกไปได้ รวมไปถึงการกำหนดสินไถ่นอกเหนือสัญญาที่สูงกว่ากฎหมายกำหนด และการขยายขายฝากนั้นยังต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หากเกิดเหตุสุดวิสัยจะไม่สามารถมาทำการขยายระยะเวลาการไถ่จากขายฝากหรือทำการไถ่จากขายฝากได้ นอกจากนี้การกำหนดสถานที่วางทรัพย์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2562 ยังไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในกรณีที่ผู้ซื้อฝากไม่ยอมมาดำเนินการจดทะเบียนไถ่ถอนและไม่ยอมนำเอกสารสิทธิที่ผู้ซื้อฝากยึดถือไว้มาคืนจึงทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ขายฝากซึ่งไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติคุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2562


การวิจัยนี้จึงเห็นควรเสนอแนวทางการแก้ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายขายฝากตามพระราชบัญญัติคุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2562 โดยให้มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมขอบเขตการบังคับใช้บทบัญญัติพระราชบัญญัตินี้ในประเด็นเรื่องแบบของสัญญาในการขยายระยะเวลาการไถ่ทรัพย์สิน การขยายกำหนดเวลาไถ่จากการขายฝากและการใช้สิทธิไถ่โดยการวางทรัพย์ และเห็นควรต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องรองรับกับหลักปฏิบัติที่สามารถปฏิบัติตามได้จริงในประเด็นกรณีผู้ขายฝากวางทรัพย์แล้วผู้ซื้อฝากไม่ส่งหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินคืนให้แก่ผู้ขายฝากเพื่อให้กฎหมายมีความชัดเจน และมีความรัดกุมไม่เปิดช่องโหว่ให้เกิดปัญหาในการใช้ดุลพินิจได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ที่จะสามารถใช้กฎหมายขายฝากตามพระราชบัญญัตินี้ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

ไชยยศ เหมะรัชตะ. (2548). กฎหมายว่าด้วยนิติกรรม. กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ณัฏฐิมา แก้วศิริ. (2547). ปัญหาข้อกฎหมายของสัญญาขายฝากอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขานิติศาสตร์, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ณัฐพันธุ์ อรรถกมล. (2564). ปัญหากฎหมายในการคุ้มครองการขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย. สารนิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายธุรกิจ, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม.

ณัฐวัสส์ อิศรางกูร ณ อยุธยา .(2550). คำอธิบายกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะซื้อขาย. กรุงเทพฯ: สูตรไพศาล.

ดวงกมล มั่นคงทองเจริญ. (2562). ปัญหาการสูญเสียที่ดินจากการทำสัญญาขายฝาก. สารนิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต

สาขากฎหมายธุรกิจ, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม.

ปราณี นางแล. (2555). การไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝาก. วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต, คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ไผทชิต เอกจริยการ . (2554). คำอธิบายซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้ (พิมพ์ครั้งที่6). กรุงเทพฯ: วิญญูชน.

ไพจิตร ปุญญพันธุ์. (2548). คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยขายฝาก (พิมพ์ครั้งที่ 4 แก้ไขเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ: นิติธรรม.

วิษณุ เครืองาม. (2545). คำอธิบายกฎหมายว่าด้วย ซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้. พิมพ์ครั้งที่ 9. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์นิติบรรณการ.

วีรวัฒน์ จันทโชติ, “การแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับสัญญาขายฝากในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ : ข้อสังเกตบางประการ”. วารสารนิติศาสตร์, 28(2), 328 -342

ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์ . (2552). คำอธิบายกฎหมายซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้ (พิมพ์ครั้งที่5).กรุงเทพฯ: วิญญูชน.

สุนันท์ ชัยชูสอน. (2523). ขายฝาก. วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขานิติศาสตร์, คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุวรรณา โตทองสุข. (2562). ปัญหาของกฎหมายขายฝาก : ศึกษาการนำพระราชบัญญัติคุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ.2562 มาใช้. วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.

Chairns, Walter and Mc Keon, Robert. Introduction to French Law. London: Cavendish Pub., 1995.

De Becker, J.E. The Principle and Practice of the Civil Code of Japan. London: Butterworth & Co, 1921.

The Civil Code of Japan The Ministry of Justice & The Code Translation Committee. Tokyo: Eibun-Horie-Sha, 1962