การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม การทำขนมจีนบ้านไร่ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จังหวัดอุทัยธานี
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมการทำขนมจีนบ้านไร่ สำหรับนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จังหวัดอุทัยธานี และ 2) ศึกษาผลการใช้หลักสูตรฝึกอบรมการทำขนมจีนบ้านไร่ สำหรับนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จังหวัดอุทัยธานี กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านไร่วิทยา ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 จำนวน 40 คน โดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) จากประชากร คือ กลุ่มโรงเรียนมัธยม อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี จำนวน 5 โรงเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) หลักสูตรฝึกอบรมการทำขนมจีนบ้านไร่ 2) แบบสัมภาษณ์ความต้องการหลักสูตร 3) แบบสอบถามความต้องการหลักสูตร 4) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ซึ่งมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.856 5) แบบประเมินทักษะการทำขนมจีนบ้านไร่ และ 6) แบบสอบถามวัดเจตคติต่อหลักสูตร ซึ่งมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.847 วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์เนื้อหา และการทดสอบค่าที
ผลการวิจัยพบว่า
1. หลักสูตรประกอบด้วยหลักการ จุดมุ่งหมาย คุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรม โครงสร้าง ขอบข่ายเนื้อหา ระยะเวลาที่ใช้ในการฝึกอบรม แนวการการจัดกิจกรรมฝึกอบรม สื่อและวัสดุอุปกรณ์ และการวัดผลและประเมินผล และแผนการจัดกิจกรรมการฝึกอบรม ซึ่งในการตรวจสอบคุณภาพของหลักสูตรมีค่าเท่ากับ 1.00 ดังนั้นหลักสูตรจึงมีความสอดคล้องและมีองค์ประกอบของหลักสูตรที่เหมาะสม และจากการสังเกตพฤติกรรมในการเรียนและการปฏิบัติงานของนักเรียน พบว่านักเรียนให้ความสนใจในกิจกรรมและมีความตั้งใจปฏิบัติการทำขนมจีนบ้านไร่ มีความสุข ในการเรียน
2. ผลการใช้หลักสูตรฝึกอบรมการทำขนมจีนบ้านไร่ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จังหวัดอุทัยธานี เป็นเวลา 13 ชั่วโมง พบว่านักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในหลักสูตรฝึกอบรมการทำขนมจีนบ้านไร่ หลังใช้หลักสูตรสูงกว่าก่อนใช้หลักสูตรอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 นักเรียนมีทักษะการทำขนมจีนบ้านไร่อยู่ในระดับดี และนักเรียนมีเจตคติต่อหลักสูตรฝึกอบรมการทำขนมจีนบ้านไร่ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 อยู่ในระดับมาก
คำสำคัญ : การทำขนมจีน, ขนมจีนบ้านไร่, การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม
References
นิคม ชมพูหลง. (2548). ภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การเรียนรู้. มหาสารคาม : อภิชาตการพิมพ์.
บุญชม ศรีสะอาด. (2545). การวิจัยเบื้องต้น. (พิมพ์ครั้งที่ 7). กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาส์น.
บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์. (2542). เทคนิคการสร้างเครื่องมือรวบรวมข้อมูลสำหรับการวิจัย. กรุงเทพฯ : บี & บี พับลิชชิ่ง.
เบญจางค์ เจริญสุข. (2554). การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น เรื่องเบอร์เกอร์เมี่ยงตะวัน รายวิชาขนมอบ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนท่าหลวงวิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 5 อำเภอ ท่าหลวง จังหวัดลพบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี.
ประไพ มะลิเสือ. (2553). การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม เรื่องขนมสาลี่เมืองสุพรรณ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี.
ปราโมทย์ จันทร์เรือง. (2548). หลักการและแนวทางการพัฒนาหลักสูตร. ลพบุรี : คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี.
สมหวัง จีนจรรยา. (2557). ภูมิปัญญาชาวบ้าน อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี. สัมภาษณ์.
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุทัยธานี. (2552). การจัดทำหลักสูตรระดับท้องถิ่น พุทธศักราช 2552. อุทัยธานี : ผู้แต่ง
สำนักนายกรัฐมนตรี. (2552). โครงการต้นกล้าอาชีพ เสริมทักษะเพิ่มโอกาสให้อนาคต. กรุงเทพฯ : ผู้แต่ง.