ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานการรายงานทางการเงิน สำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม ของผู้ทำบัญชีในจังหวัดศรีสะเกษ
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม ของผู้ทำบัญชีในจังหวัดศรีสะเกษมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม 2) ศึกษาความรู้และความเข้าใจในหลักการจัดทำบัญชีตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมของผู้ทำบัญชี ในจังหวัดศรีสะเกษ และ 3) ศึกษาแนวทางการพัฒนาความรู้และความเข้าใจในมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมของผู้ทำบัญชีในจังหวัดศรีสะเกษ การวิจัยใช้วิธีผสมผสาน โดยผู้วิจัยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้ทำบัญชีในจังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 42 คน วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป และนำผลที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณไปตรวจสอบข้อมูลและพิจารณาให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับความรู้และความเข้าใจ ตลอดจนแนวทางในการพัฒนาความรู้และความเข้าใจในมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมของผู้ทำบัญชีในจังหวัดศรีสะเกษ ด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพโดยการสนทนากลุ่มตัวแทนของผู้ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวน 12 คน
ผลการวิจัยพบว่า ผู้ทำบัญชีในจังหวัดศรีสะเกษมีความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมโดยรวมและเป็นรายด้านอยู่ในระดับมาก คือ ด้านคุณลักษณะทั่วไป ด้านประโยชน์จากการนำ TFRS for SMEs มาถือปฏิบัติ และด้านปัญหาจากการนำ TFRS for SMEs มาถือปฏิบัติ และมีความรู้และความเข้าใจในหลักการจัดทำบัญชีตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ปัญหาและอุปสรรคในการถือปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน คือ เกิดต้นทุนในการจัดทำงบการเงินและอาจเป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้ทำบัญชี ผู้ทำบัญชียังไม่ได้ศึกษามาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม ผู้ทำบัญชีขาดความรู้และความเข้าใจ ผู้บริหารให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นก่อน สภาวิชาชีพบัญชีจัดอบรมน้อยและไม่ชัดเจน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ติดตามและประเมินผลความรู้และความเข้าใจของผู้ทำบัญชี
แนวทางการพัฒนาความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมมีดังนี้ 1) ผู้ทำบัญชีต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ 2) เจ้าของกิจการควรสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ทำบัญชีเข้ารับการอบรมสัมมนา 3) สภาวิชาชีพบัญชีฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดหลักสูตรอบรมโดยเฉพาะอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอทั้งทฤษฏีและการปฏิบัติ และควรจัดทำคู่มืออธิบายเพิ่มเติมตามเรื่องในมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม พร้อมยกตัวอย่างประกอบ และ 4) สภาวิชาชีพบัญชีต้องมีการติดตามและประเมินผลความรู้และความเข้าใจ นอกจากนี้ผู้ทำบัญชีได้เสนอความคิดเห็นเพิ่มเติมว่าหากจะบังคับใช้มาตรฐานฉบับนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทบทวน ปรับปรุงเนื้อหาและขอบเขตให้เหมาะสมกับประเภทธุรกิจและขนาดของกิจการ
Article Details
1. เนื้อหาและข้อมูลในบทความที่ลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ถือเป็นข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรง ซึ่งกองบรรณาธิการวารสาร ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ
2. บทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ กองบรรณาธิการไม่สงวนสิทธิ์ในการคัดลอกบทความเพื่อการศึกษา แต่ให้อ้างอิงแหล่งที่มาให้ครบถ้วนสมบูรณ์
References
ปฐมชัย กรเลิศ. (2555). ความรู้ความเข้าใจของผู้สอบบัญชีภาษีอากรเกี่ยวกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (การค้นคว้าแบบอิสระบัญชีมหาบัณฑิต). เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ศลิษา หวังดี. (2555). ความรู้ความเข้าใจต่อมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการ ที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะของผู้ทำบัญชีในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน. (การค้นคว้าแบบอิสระบัญชีมหาบัณฑิต). เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์. (2554). ประกาศเรื่อง มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ. สืบค้น 25 กรกฎาคม 2560 จาก
http://www.fap.or.th/images/column_1500521291/TFRS_SME_200760.jpg
สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์. (2559). ประกาศเรื่อง มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม. สืบค้น 25 กรกฎาคม 2560 จาก
http://www.fap.or.th/images/column_1500521291/TFRS_SME_200760.jpg
สำนักพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดศรีสะเกษ, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า. (2560). รายชื่อผู้ทำบัญชี. สืบค้น 22 กรกฎาคม 2560 จาก http://www.dbd.go.th/sisaket/main.php?filename=index
สุภาภรณ์ กุศลสัตย์ และเสาวนีย์ สิชฌวัฒน์. (2551). การนำมาตรฐานการบัญชีสำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมมาใช้ในประเทศไทยในมุมมองของผู้สอบบัญชี. วารสารวิชาชีพบัญชี, 4(11), 35.
อรอนงค์ อรัญยถาวร, กอบแก้ว รัตนอุบล. (2559). ความคิดเห็นของนักบัญชีต่อมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม. วารสารวิชาชีพบัญชี, 12(33), 17.