การประกอบสร้างอัตลักษณ์ของชุมชนเพื่อรองรับการท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี กรณีศึกษา บ้านเชียงสง ตำบลเมืองลีง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการประกอบสร้างอัตลักษณ์ของชุมชนเพื่อรองรับการท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี กรณีศึกษา บ้านเชียงสง ตำบลเมืองลีง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ ใช้การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม และแบบไม่มีส่วนร่วม โดยสังเกตการณ์จากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในระหว่างที่มีการต้อนรับผู้มาเยือน และใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้นำชุมชน ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านเชียงสง และชาวบ้านในชุมชน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้แนวคิด ทฤษฎีด้านคติชนวิทยา และด้านการท่องเที่ยวมาจัดกระทำข้อมูลด้วยการวิเคราะห์ เชิงเนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า ชาวบ้านเชียงสงได้นำเอาวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายและเป็นอัตลักษณ์มาใช้รองรับกิจกรรมการท่องเที่ยว ทั้งใช้เป็นจุดขายและสร้างการจดจำแก่ผู้มาเยือน ซึ่งอัตลักษณ์ที่ผู้วิจัยนำเสนอในงานนี้ ถือว่าเป็นอัตลักษณ์ที่เกิดจากจุดเด่นของแต่ละชาติพันธุ์ในชุมชนมาประกอบสร้างเป็นอัตลักษณ์ร่วมเป็นสำคัญ ดังนี้ 1) อัตลักษณ์ด้านอาหาร : อาหารแบบเขมรและลาว ช่วงที่มีการต้อนรับผู้มาเยือนชุมชนให้ความสำคัญกับการนำเสนออัตลักษณ์ด้านนี้ ทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน เช่น อาหารประเภทปลาที่ชาวบ้านหาได้จากลำน้ำชี พืชผักท้องถิ่นที่มีตามฤดูกาล และของหวานที่หาทานได้เฉพาะช่วงวันสำคัญ 2) อัตลักษณ์ด้านที่อยู่อาศัย : แบบบ้านจีน และ แบบบ้านกูย ชุมชนยังคงอนุรักษ์บ้านเก่าไว้และนำมาเชื่อมโยงกับกิจกรรมการท่องเที่ยว ภายใต้ชื่อ ภูมิเชียงสง ชุมชนโบราณ สามศตวรรษ กล่าวคือ บ้านของชาวจีน จะนำเสนอประวัติความเป็นมาของชาวจีนที่ย้ายถิ่นฐานข้ามาอาศัยอยู่ในเชียงสง และมีการจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ บ้านของชาวกูย เปิดให้ความรู้แก่ผู้มาเยือนที่ต้องการทราบรายละเอียดเกี่ยวกับช้าง และอุปกรณ์ที่ใช้ในการโพนช้างในอดีต 3) อัตลักษณ์ด้านการ แต่งกาย : แบบกูย เมื่อมีการเปิดบ้านต้อนรับผู้มาเยือน อัตลักษณ์ด้านการแต่งกายที่ชุมชนนำออกมาเสนอนั้นเป็นการแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์กูย กล่าวคือ มีการสวมใส่ผ้าไหมสีดำที่ย้อมด้วยมะเกลือ เสริมด้วยการแซวผ้า ทำให้เสื้อแซวของชาวกูย มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สวยงาม นอกจากนี้ชุมชนยังสะท้อนวิถีชีวิตไว้บนลายผ้าไหมมัดหมี่ เช่น ลายช้าง 4) อัตลักษณ์ด้านภาษา : ความหลากหลายของการใช้ภาษาในชุมชนเดียว นอกจากภาษาไทยที่ใช้ในการติดต่องานราชการและใช้พูดคุยกับผู้มาเยือนต่างถิ่นแล้ว ก็จะมีการใช้ภาษาเขมร และภาษากูยกับนักท่องเที่ยวบ้าง กรณีที่นักท่องเที่ยวต้องการทราบว่า ของสิ่งนั้น หรือข้อความนั้น ๆ ออกเสียงว่าอย่างไร และ 5) อัตลักษณ์ด้านประเพณี/พิธีกรรม/ความเชื่อ : ความเชื่อของหลากกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังคงดำรงอยู่อย่างเข้มแข็งในชุมชน ได้แก่ ความเชื่อเกี่ยวกับช้างและพิธีกรรมเกี่ยวกับช้างของกลุ่มกูย พิธี แซนโฎนตา: การบูชาผีบรรพบุรุษของกลุ่มเขมร และพิธีเซ่นไหว้เจ้าพ่อเชียงสง : พิธีกรรมเพื่อบูชาบรรพบุรุษชุมชน เป็นต้น การสร้างการจดจำในฐานะอัตลักษณ์ใหม่ว่า “หมู่บ้านเชียงสง เป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม” นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์แล้วยังก่อให้เกิดประโยชน์ทางการท่องเที่ยว เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชน และสร้างความร่วมแรงร่วมใจและความสามัคคีในชุมชนอีกทางหนึ่ง
Article Details
1. เนื้อหาและข้อมูลในบทความที่ลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ถือเป็นข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรง ซึ่งกองบรรณาธิการวารสาร ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ
2. บทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ กองบรรณาธิการไม่สงวนสิทธิ์ในการคัดลอกบทความเพื่อการศึกษา แต่ให้อ้างอิงแหล่งที่มาให้ครบถ้วนสมบูรณ์
References
Sumetharat, S. (2011). Local History of Surin. (3rd ed.). Bangkok: Odeon Store Press.
[in Thai]
The Community Development , Department . (2018). The Driving operations of the OTOP Nawatwithi, Community Based Tourism. Bangkok. E BOOK. [in Thai]
The National Economic and Social Development Council, Office. (2016). (draft) The Twelfth National Economic and Social Development (2017 - 2021). Bangkok. [in Thai]
Thongkaew, A. (2006). Local culture of Surin. Surin: Surindra Rajabhat University Printing. [in Thai]