ภาพพญายมในศิลปะญี่ปุ่นระหว่างสมัยคามาคุระถึงเอโดะ

Main Article Content

น้ำใส ตันติสุข

Abstract

บทคัดย่อ

ตามหลักศาสนาพุทธและความเชื่อดั้งเดิมในประเทศญี่ปุ่น มนุษย์ทุกคนต้องเข้ารับการตัดสินบาปบุญและกำหนดภูมิสำหรับกำเนิดใหม่ ผู้พิพากษาหลังความตายนี้มีนามว่า “พญายม” (Enma-Ou) ภาพพญายมปรากฏในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยคามาคุระ (ค.ศ. 1192-1333) และพบเห็นในภาพตีพิมพ์ประกอบหนังสือเรื่องตำนานนิทานสมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603-1868) ทว่ายังมีงานวิจัยไม่มากนักที่นำภาพพิมพ์และภาพตีพิมพ์ประกอบหนังสือมาวิเคราะห์ร่วมกับงานจิตรกรรมสมัยโบราณ ดังนั้น งานวิจัยชิ้นนี้จึงทดลองใช้ภาพพญายมทั้ง 3 ประเภท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการในงานเขียนภาพพญายม เพื่อให้เห็นส่วนเชื่อมโยงระหว่างงานพุทธศิลป์สมัยคามาคุระ-มุโรมาจิ(ค.ศ. 1336-1573) และภาพวาดสำหรับชาวบ้านในสมัยเอโดะ

ภาพพญายมในงานวิจัยนี้เก็บรวบรวมจากหนังสือรวมภาพงานนิทรรศการ ฐานข้อมูลดิจิตอลหอสมุด National Diet Library และข้อมูลไมโครฟิล์มจาก National Institute of Japanese Literature นอกจากนี้ยังออกสำรวจเพื่อตรวจสอบรายละเอียดและสีของงาน แต่ยังคงเหลืองาน 4 ชิ้นที่ไม่อาจระบุสีและรายละเอียด ปัจจุบันภาพพญายมซึ่งค้นคว้าได้มีทั้งหมด 161 ภาพ แบ่งเป็นงานยุคคามาคุระ-นัมโบะคุโจ 23 ภาพ ยุคมุโรมาจิ 23 ภาพ และยุคเอโดะ 115 ภาพ

จากหลักฐานทั้งหมดสังเกตได้ว่า พญายมมิได้มีลักษณะเป็นผู้พิพากษาที่เข้มงวดดุดัน เช่นในภาพชุดราชาทั้งสิบ แต่ยังแสดงความเป็นผู้ศรัทธาพุทธศาสนาอย่างยิ่งยวด หากในฉากใดปรากฏพระพุทธ พระโพธิสัตว์ หรือแม้แต่ผู้มีบุญ พญายมจะคุกเข่าถวายความเคารพอย่างนอบน้อม ส่วนมากวัตถุในมือพญายมมักเป็น “ชะคุ” (Shaku) แผ่นไม้สำหรับขุนนางชั้นผู้ใหญ่ นอกจากนั้นยังพบภาพพญายมถือพู่กันอีกด้วย คาดว่าพู่กันนี้เป็นองค์ประกอบแสดงลักษณะผู้พิพากษาของพญายม เนื่องจากการศาลสมัยนั้นให้ความเชื่อถือหลักฐานทางเอกสารมาก และเจ้าหน้าที่จะแต่งหนังสือบ่อยครั้ง ทั้งเพื่อออกหมาย แจ้งความสำคัญแก่บุคคลในคดี หรือแจ้งผลการสอบสวน ชาวญี่ปุ่นจะเก็บรักษาเอกสารจากทางการไว้เป็นอย่างดีเพื่อใช้เป็นหลักฐานดำเนินการต่างๆ ต่อไป นอกจากนี้ความแตกต่างระหว่างชนชั้นผู้รู้และไม่รู้หนังสือยังค่อนข้างกว้าง ภาพพญายมถือพู่กันจึงแสดงได้ทั้งภาพลักษณ์ผู้พิพากษาและผู้ทรงภูมิในเวลาเดียวกัน

ในยุคคินเซ(อะสึจิโมโมยามะ-เอโดะ) ภาพพญายมยังคงได้รับอิทธิพลจากงานยุคก่อน ทว่าความเปลี่ยนแปลงเริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ภาพพญายมถือพู่กันพบน้อยลง อาจเพราะพัฒนาการด้านการศึกษาและจำนวนโรงเรียน (Terakoya) ซึ่งเพิ่มมากขึ้น ช่วยให้ชาวบ้านมีความรู้ อ่านออกเขียนได้ยิ่งขึ้น ดังนั้นพู่กันจึงไม่อาจส่งอิทธิพลเช่นในยุคก่อน นอกจากนี้ยังพบภาพเชิงล้อเลียนซึ่งเขียนพญายมเป็นผู้มีทุกข์หรือผู้ถูกกระทำด้วย แม้ภาพลักษณ์ยังคงเป็นผู้พิพากษา ทว่าการกระทำของพญายมในงานหลายชิ้นแสดงภาพยามร้องไห้ วิ่งหนีเพลิงนรก ถูกกองทัพจากแดนอื่นรุกราน เป็นต้น ทั้งนี้ภาพล้อเลียนเหล่านี้น่าจะเป็นจุดเชื่อมโยงสู่ภาพล้อซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในยุคเมจิน

คำสำคัญ: 1. พญายม  2. จูโอ   3. นรก  4. ศิลปะญี่ปุ่น  5. วัฒนธรรมญี่ปุ่น

Abstract

According to the Japanese folklore as well as to the Buddhist mythology, it is believed that the karma of every soul must be brought to judgment and after that assigned the realm to reincarnate by King Yama, the ruler of the underworld. The portrait of King Yama has been created since Kamakura period and appeared in many published books in Edo period as a character of the tale. Anyhow the research that focuses only on the pictures of King Yama or on publications, which are likely to be well-known by commoners in Edo era has been rarely conducted. Therefore, the objective of this research is to analyze the development of King Yama illustrations between Kamakura to Edo period, in order to comprehend the changes of the portrait, including the social influences that have been left in each time frame.

The illustrations of King Yama in this research were collected mostly from exhibition catalogues, National Diet Library’s online database and National Institute of Japanese Literature’s microfilm documents. Moreover, to examine the colour of some monochrome data, the field works were also carried out, yet there are 4 pictures not available to indicate its colour. At present, among 161 examples, there are 23 Kamakura-Nambokuchou period’s works, 23 Muromachi period’s works, and 115 Edo period’s works.

According to the evidence from Medieval period, not only the lord can be characterized as a strict judge of the dead as seen in a number of paintings such as Juu-ou-zu, but also as someone who respects Buddhism. If Buddha, Bodhisattva or a Buddhist appears in front of him, He will welcome them and pay his respect. In Muromachi period, unlike the style of arts in the previous era, the pictures of him holding a brush in his hand were more popular.  This kind of setup provided a strong image of a judge. Using “brush” as an instrument, might relates to the increasing popularity of legal papers usage among civilians since the late Kamakura period, and the increase of literacy rate among warrior class as well as the group of merchants.

In modern times (Kin-sei), while accepting earlier style, the changes can be seen as well. From 115 Edo period’s examples, the number of the brush as an implement was decreased. The people at that time were given more access to basic education at Terakoya. Even for ordinary people, “document” had become more available and comprehensible; therefore, the belief that only authority was associated with an action of “writing” or any form of “literacy” was not as remarkable as in the earlier age. For the new characteristic of King Yama, the original appearance and motifs can be recognized, whereas the character was developed to be someone who has some difficulties in his land, or who was attacked by other characters.

Keywords: 1. King Yama    2. Juuou    3. Hell     4. Japanese Art     5. Japanese Culture

Article Details

Section
บทความประจำฉบับ