การฟื้นฟูอาหารพื้นบ้านจีนแคะ (ฮากกา) ห้วยกระบอก : สิ่งท้าทายในภาวการณ์ที่สวนกระแส
Main Article Content
Abstract
จากการประเมินความพร้อมเบื้องต้นของกลุ่มจีนแคะชุมชนห้วยกระบอก พบว่ามีต้นทุนความพร้อมในหลายๆ ด้านที่สามารถฟื้นฟูอาหารพื้นบ้านได้ เช่น มีร้านขายอาหารจีนแคะในชุมชน คนส่วนใหญ่ในชุมชนเป็นคนไทยเชื้อสายจีนแคะ คนรุ่นผู้ใหญ่บางคนมีความตระหนักในคุณค่าของอาหารท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวจีนแคะ คือผักกาดดองเค็มตากแห้ง (ช่อยก็อน) ซึ่งนับวันจะมีคนผลิตน้อยลง คนกลุ่มนี้ยังมีความตระหนักในอัตลักษณ์ของตน โดยเฉพาะเรื่องอาหารที่ทำให้แตกต่างจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ จึงรวมตัวกันเป็นทีมวิจัยเพื่อนำร่องในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านอาหารแก่คนรุ่นเด็กในการฟื้นฟูและสืบสานอาหารจีนแคะต่อไป บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการส่งเสริมการฟื้นฟูอาหารพื้นบ้านเพื่อถ่ายทอดสู่คนรุ่นต่อไปของชาวจีนแคะที่ ชุมชนห้วยกระบอก ตำบลกรับใหญ่ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการร่วมกับชุมชน เพื่อศึกษาข้อจำกัดและปัจจัยเกื้อหนุนที่จะก่อให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ด้านอาหารที่เป็นอัตลักษณ์ของคนจีนแคะไปสู่รุ่นเด็ก (young generation) หรือจากรุ่นสู่รุ่น ผลการวิจัยพบว่า ปัญหาสำคัญของการสืบทอดความรู้เรื่องอาหารจีนแคะที่สำคัญคือ คนรุ่นใหม่ในชุมชนไม่ทราบว่าตนเองมีเชื้อสายจีนแคะเนื่องจากพ่อแม่ไม่เคยบอก ซึ่งทำให้คนเหล่านั้นไม่มีความซาบซึ้งกับอาหารที่เป็นภูมิปัญญา และเกี่ยวข้องในเชิงประวัติศาสตร์ของบรรพชนของตน ในขณะที่สภาพการณ์ปัจจุบันสามารถหาซื้ออาหารพร้อมรับประทานได้สะดวกทั้งในตลาดสดและซุปเปอร์มาเก็ต ความท้าทายกับภาวะการณ์ที่สวนกระแสกับความจริงที่ว่า อาหารสำเร็จรูปสมัยใหม่กำลังจะมาแทนที่อาหารท้องถิ่นที่มีคุณค่าและต้นทุนต่ำ ถึงแม้ว่าจะมีโครงการวิจัยสนับสนุนการฟื้นฟูอาหารพื้นบ้านเพื่อการถ่ายทอดสู่รุ่นต่อไป แต่หากไม่มีผู้รับสืบทอด วงจรการผลิตซ้ำจะไม่เกิด ผลที่ตามมาคือ วัฒนธรรมอาหารพื้นบ้านที่บ่งบอกความเป็นจีนแคะอาจจะหายไปในอนาคตอันใกล้