ศิลปกรรมแบบเขมรในพระราชประสงค์รัชกาลที่ 4
Main Article Content
Abstract
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องกับศิลปะแบบเขมร หลายประการ เช่น การสร้างพระปรางค์แดงที่พระนครคีรี จ.เพชรบุรี โดยมีมูลเหตุจากพระบรมราชโองการที่มีพระราชประสงค์ให้รื้อปราสาทแบบเขมรแล้วมาสร้างไว้ที่พระนครคีรีแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ซึ่งนักวิชาการบางท่านเข้าใจว่าหมายถึงปราสาทนครวัด แต่หากพิจารณาจากหลักฐานอื่นเพิ่มเติมพบว่า ปราสาทที่มีพระราชประสงค์ให้รื้อน่าจะหมายถึงปราสาทบันทายฉมาร์ แต่เมื่อพบว่ามีขนาดใหญ่เกินไปจึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อปราสาทไผทตาพรหมซึ่งน่าจะหมายถึงปราสาทหลังใดหลังหนึ่งในกลุ่มปราสาทตาพรหม ภายหลังได้งดการรื้อปราสาทเหล่านั้นเนื่องจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้น แต่ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระปรางค์แดงขึ้นแทน โดยมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกับปราสาทแบบเขมร
นอกจากนี้ ยังโปรดเกล้าฯ ให้จำลองปราสาทนครวัดมาไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และให้สร้างประติมากรรมรูปสิงโตอย่างเขมร เพื่อประดับที่อัฒจันทร์พระที่นั่งอนันตสมาคมในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสนพระราชหฤทัยในโบราณสถานและโบราณวัตถุแบบเขมร ขณะเดียวกันอาจเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงการแสดงออกของรัชกาลที่ 4 ในฐานะเจ้าอธิราชเหนือกัมพูชาผ่านงานศิลปกรรม ซึ่งเป็นความพยายามที่จะต่อสู้กับชาติมหาอำนาจตะวันตกที่กำลังแผ่ขยายอิทธิพลและอ้างสิทธิเหนือดินแดนประเทศราชที่อยู่ในพระราชอำนาจ