โขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ : กระบวนการจัดสร้าง อนุรักษ์ พัฒนารูปแบบ

Main Article Content

นครินทร์ น้ำใจดี

Abstract

          การศึกษาในครั้งนี้เป็นการศึกษากระบวนจัดการสร้างโขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  ที่จัดแสดงระหว่างปี พ.ศ.2550 ถึงปี พ.ศ.2556  รวม 5 ชุด คือ ชุดที่ 1 พรหมมาศ จัดแสดงปีพ.ศ.2550 และพ.ศ.2552 รวม 2 ครั้ง ชุดที่ 2 นางลอย จัดแสดงปีพ.ศ.2553 ชุดที่ 3 ศึกมัยราพณ์  จัดแสดงปี พ.ศ.2554 ชุดที่ 4 ชุด จองถนน จัดแสดงปีพ.ศ.2555 และชุดที่ 5 ชุด โมกขศักดิ์ จัดแสดงปี พ.ศ. 2556 โดยใช้วิธีการศึกษาเอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึก จากคณะกรรมการที่สำคัญในการจัดสร้างโขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จำนวน 5 ท่าน คณะทีมงานเบื้องหลังการจัดสร้างโขนมูลนิธิฯ ตัวแทนนักเรียนผู้เข้าร่วมการแสดงโขนชุดโมกขศักดิ์ ตลอดจนใช้กระบวนการศึกษาแบบมีส่วนร่วม ด้วยการลงไปสังเกตการทำงานของทีมงานตั้งแต่การจัดทำฉาก การคัดเลือกนักแสดง ไปจนถึงการแสดงออกสู่สายตาประชาชน เพื่อทำให้เห็นภาพรวมของการจัดสร้างโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ พร้อมทั้งนำผลของการศึกษาไปใช้ในการจัดทำเว็บไซต์ นิทรรศการเสมือนจริง “องค์อัคราภิรักษศิลปิน” ที่จัดทำขึ้นโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อเป็นการเผยแพร่พระราชกรณีของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ต่อการอนุรักษ์ สืบทอดศิลปะการแสดงโขน รวมถึงการอนุรักษ์ช่างประณีตศิลป์แขนงต่างๆ ที่ใกล้จะสูญหายอันเป็นองค์ประกอบด้านสุนทรียศาสตร์หนึ่งที่สำคัญของการแสดงโขน ให้กลับมาได้รับการอนุรักษ์ สืบทอด พัฒนา และสร้างสรรค์ นักวิจัยอิสระ งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับเงินสนับสนุนงานวิจัยจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม

          จากการศึกษาเชิงลึกสามารถสรุปผลการศึกษาเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 องค์ประกอบของการจัดสร้างโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ 7 องค์ประกอบ ได้แก่ บทประพันธ์และผู้กำกับการแสดง การคัดเลือกนักแสดง การจัดทำฉาก ระบบแสงระบบเสียงที่ใช้ประกอบการแสดง  เครื่องแต่งกายโขน  ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง การประชาสัมพันธ์ 

          ส่วนที่ 2  การอนุรักษ์ และการพัฒนารูปแบบโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ      ซึ่งคณะทำงานจัดสร้างโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้ใช้กระบวนประเมินคุณค่าโขนซึ่งเป็นทรัพยากรวัฒนธรรม และนำองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาไปสู่กระบวนการอนุรักษ์ พัฒนารูปแบบของการแสดงโขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนาง-เจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ดังนี้

           ด้านการอนุรักษ์ มีการสร้างภาคีเครือข่ายนักวิชาการที่มีความรู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ นาฏศิลปิน ดนตรี  มาเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับยุวศิลปินรุ่นใหม่ เพื่อให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการสืบสานศิลปะแขนงต่างๆ ทั้งด้านจิตรกรรม ปฎิมากรรม นาฏศิลป์ และคีตศิลป์ไทย เป็นต้น องค์ความรู้ที่ได้รับการอนุรักษ์ ได้แก่ การรื้อฟื้นการทอผ้ายกเมืองนครศรีธรรม  เทคนิคการปักชุดโขนละคร การรื้อฟื้นกระบวนท่ารำเบิกโรงละครในทีมีการสืบทอดไปสู่คณะละครวังสวนกุหลาบ ให้ได้รับการฝึกหัดและสืบทอดอีกครั้ง ฯลฯ  

          การพัฒนารูปแบบโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ มีการนำองค์ความรู้เป็นฐานนำไปสู่การพัฒนารูปแบบ พร้อมทั้งยังมีแนวคิดในการนำวัสดุอุปกรณ์สมัยใหม่ มาใช้ทดแทนวัสดุธรรมชาติที่หายาก ในการจัดสร้างศิราภรณ์ พัตราภรณ์ รวมทั้งมีการปรับภาพลักษณ์โขนให้ดูทันสมัยมากขึ้น  ด้วยการพัฒนารูปแบบฉากโขนให้เสมือนจริง ด้วยการนำเทคโนโลยีแสง สี เสียง มาช่วยสร้างอารมณ์ จิตนาการของผู้ชม ตลอดจนยังมีการพัฒนารูปแบบการแต่งหน้าโขน  เรียกการแนวทางแต่งหน้านี้ว่า “แนวพระราชนิยม” เป็นต้น

           โดยสรุปกระบวนการจัดแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ใช้หลักการประเมินคุณค่าทรัพยากรวัฒนธรรม และนำองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาไปสู่กระบวนการอนุรักษ์ พัฒนารูปแบบด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เป็นการปรับภาพลักษณ์โขนให้ทันสมัย สามารถเข้าถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ง่ายขึ้น  เป็นการปลูกฝั่งค่านิยมให้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงคุณค่าของโขนในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมประจำชาติที่ควรอนุรักษ์สืบไป

 

Article Details

Section
บทความประจำฉบับ