การศึกษาแรงงานนอกระบบในประเทศไทย
Main Article Content
Abstract
การศึกษาเรื่องแรงงานนอกระบบในประเทศไทยในช่วงแรกยังไม่พบการใช้คำว่าแรงงานนอกระบบในการศึกษา คำว่าแรงงานนอกระบบเพิ่งจะปรากฏขึ้นและถูกใช้อย่างมีจุดมุ่งหมายในช่วงต้นทศวรรษ 2540 โดยมีนัยยะอยู่ที่การสร้างความคุ้มครองให้กับผู้ที่ทำงานในเศรษฐกิจนอกระบบ อย่างไรก็ตามแม้คำว่าแรงงานนอกระบบจะถูกใช้อย่างแพร่หลาย และค่อนข้างจะถูกใช้โดยมีนัยยะไปในทางเดียวกันคือหมายถึงแรงงานที่ไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มีหลักประกันจากการทำงาน แต่หากพิจารณาอย่างละเอียดแล้วจะพบว่าคำว่าแรงงานนอกระบบยังถูกให้คำนิยามที่แตกต่างกัน
ในอดีตงานศึกษาเกี่ยวกับแรงงานนอกระบบมุ่งทำการศึกษาข้อมูลทั่วไปของแรงงานนอกระบบ จุดสนใจและลักษณะของการศึกษาเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงปลายทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา มีงานศึกษาหลายชิ้นมีวิธีการศึกษาและมุ่งศึกษาในประเด็นที่แตกต่างออกไปจากในช่วงก่อนหน้า
ข้อสังเกตประการสำคัญจากการวิจัยนี้พบว่าการนิยามอย่างกว้าง ๆ ว่าแรงงานนอกระบบหมายถึงผู้มีงานทำที่ไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มีหลักประกัน ก่อให้เกิดความยากลำบากและความสับสนในการพิจารณาว่างานนอกระบบหมายถึงคนกลุ่มใดบ้าง
ในปัจจุบันคนทำงานส่วนหนึ่งที่เรียกตนว่าเป็นแรงงานนอกระบบได้มีการรวมกลุ่มกันแสดงออกถึงตัวตนและข้อเรียกร้องของตนเอง โดยกลุ่มซึ่งเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างได้แก่ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ/ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบและมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (โฮมเนทไทยแลนด์)