รูปแบบการใช้การแพทย์แบบผสมผสานของผู้ป่วยโรคระบบกล้ามเนื้อและโครงร่างในจังหวัดนครปฐม

Main Article Content

พิษนุ อภิสมาจารโยธิน

Abstract

          การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์คือ 1) ศึกษารูปแบบพฤติกรรมการดูแลสุขภาพโดยใช้การแพทย์ผสมผสาน 2) ศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการใช้การแพทย์ผสมผสาน 3) เพื่อวิเคราะห์ตัวแบบในการทำนายพฤติกรรมการใช้การแพทย์ผสมผสาน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ ผู้ป่วยโรคระบบกล้ามเนื้อและโครงร่างในจังหวัดนครปฐม จำนวน 151 คน ซึ่งใช้วิธีการสุ่มอย่างง่าย ผู้วิจัยใช้แบบสอบถามที่สร้างขึ้นเป็นเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติเชิงพรรณา โดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สันและไคสแควร์ในการหาความสัมพันธ์และใช้สัมประสิทธิ์ถดถอยพหุคูณ เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้การแพทย์แบบผสมผสาน ผลการวิจัยพบว่า 1) ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงร้อยละ 69.54  มีอายุมากกว่า 50 ปีร้อยละ 50.99 โดยอายุต่ำสุดคือ 28 ปี และสูงสุดคือ 67 ปี จบการศึกษาในระดับประถมศึกษาร้อยละ 50.99  มีรายได้ต่อเดือนระหว่าง 5,000-10,000 บาทร้อยละ 54.30 ส่วนใหญ่มีประสบการณ์เคยใช้การแพทย์แบบแผนโบราณร้อยละ 76.16 และใช้การแพทย์แบบผสมผสานร้อยละ 92.72 สถานบริการหลักที่ใช้แพทย์แผนปัจจุบันและแผนโบราณคือโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพของรัฐร้อยละ 72.19 และ 56.29 ตามลำดับ 2) ผู้ป่วยมีค่านิยมในระดับมากมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.05 มีความเชื่อในระดับมากมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.08 และมีการรับรู้ในระดับมากมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.77 การรับรู้โอกาสเสี่ยงและการรับรู้ประโยชน์อยู่ในระดับมาก และการรับรู้อุปสรรคอยู่ในระดับน้อย 3) ผู้ป่วยมีลักษณะความเจ็บป่วยอยู่ในระดับปานกลาง โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.10 และ 4) ผู้ป่วยมีพฤติกรรมการใช้การแพทย์ผสมผสานในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.59 นอกจากนี้ 5) จากการศึกษาความสัมพันธ์พบว่าประสบการณ์การใช้การแพทย์แผนโบราณ ค่านิยม ความเชื่อ การรับรู้ และลักษณะของความเจ็บป่วย มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการใช้การแพทย์แบบผสมผสานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และค่านิยม ความเชื่อ การรับรู้ และลักษณะของการเจ็บป่วย ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้แพทย์แบบผสมผสานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยสามารถทำนายพฤติกรรมได้ร้อยละ 83.60

Article Details

Section
บทความประจำฉบับ