รูปแบบการสร้างแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จังหวัดสระแก้ว ประเทศไทย
Main Article Content
Abstract
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) ปัจจัยของการสร้างแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 2) ปัญหาอุปสรรคและวิธีการแก้ไขที่พบ และ 3) รูปแบบการสร้างแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ในการทำงานของ อสม. จังหวัดสระแก้ว ประเทศไทย ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ คัดเลือกกลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลักแบบเจาะจงผู้ให้ข้อมูลหลักได้แก่ อสม. ดีเด่น ประจำปี 2557 ซึ่งเป็นตัวแทนอำเภอของจังหวัดสระแก้ว จำนวน 10 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก เครื่องมือวิจัยเป็นแบบสัมภาษณ์ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ร่วมกับการสังเกตพื้นที่จริงและจากการรวบรวบเอกสารที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษาเสนอเป็น (ร่าง) โมเดลมด :รูปแบบการสร้างแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ของ อสม. ซึ่งประกอบด้วยปัจจัย 2 ส่วนคือ 1) แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์จากปัจจัยภายในตน 2) แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์จากปัจจัยภายนอกตน กรอบหลักคิดของโมเดลมด เกิดมาจากการศึกษาที่พบว่า อสม. เป็นอาสาสมัครทางสาธารณสุขที่ทำหน้าที่ดูแลด้านสุขภาพของประชาชนในหมู่บ้านเป็นทีมงานสาธารณสุขที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด มีจำนวนมากที่สุดและพบเจอปัญหามากที่สุดเช่นกัน ซึ่งแม้จะพบเจออุปสรรคอย่างไร อสม. ก็จะต้องทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จเสมอ การทำงานของอสม.เปรียบเหมือนมดงานที่ต้องทำงานหาอาหารมาเก็บกักตุนไว้ใช้ตลอดปีไม่ว่าพบเจออุปสรรคใดๆมดก็ไม่ละความพยายาม มุ่งฟันฝ่าอุปสรรคจนสำเร็จตามเป้าหมาย โดยปัจจัยที่หนึ่ง แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์จากปัจจัยภายในตน เป็นพลังใจที่ อสม. สร้างขึ้นเองโดยฝึกคิดเชิงบวกต่อการทำงาน ทุ่มเท ทำงานเต็มที่ไม่ลดละความพยายาม มีปัญหาอุปสรรคแก้ไขจนประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย ปัจจัยที่สอง แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์จากปัจจัยภายนอกตน เป็นพลังใจที่ อสม. สร้างขึ้นจากการได้รับการชื่นชม ยกย่อง สนับสนุนจากบุคคลที่ใกล้ชิด และกลุ่มบุคคลอื่นหน่วยงาน และทีมงาน เพื่อเอื้ออำนวยและสนับสนุนทำให้ตนเกิดแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ในการทำงานให้เกิดผลสำเร็จในที่สุด ปัญหาและอุปสรรคที่พบได้แก่ภาระงานที่เพิ่มขึ้นและยังขาดความร่วมมือจากประชาชนในบางพื้นที่ แนวทางแก้ปัญหาได้ใช้วิธีการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนให้มากที่สุดหลากหลายรูปแบบ ข้อเสนอแนะการนำไปใช้ประโยชน์ เป็นแนวทางให้ผู้เกี่ยวข้องด้านบริหารจัดการสุขภาพชุมชนได้นำไปสร้างระบบการจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ให้อสม.ทำงานให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อเป็นขวัญและกำลังในในการทำงานต่อไป