“เวียงเชียงรุ้ง” ชุมชนบนเส้นทางการค้าในเขตภาคเหนือตอนบน : ศึกษาจากเครื่องปั้นดินเผาเวียงเชียงรุ้ง
Main Article Content
Abstract
ในการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา พบว่าหลักฐานกลุ่มหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าตำนานและจารึกคือ เครื่องปั้นดินเผาเป็นจำนวนมากที่เหลือทิ้งอยู่ในแหล่งโบราณคดีต่างๆ เมื่อศึกษาและวิเคราะห์เครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้ร่วมกับหลักฐานอื่นๆ จะสามารถบอกเล่าเรื่องราวของพื้นที่นั้นๆ ได้เป็นอย่างดี
“เวียงเชียงรุ้ง” ชุมชนบนเส้นทางการค้าในเขตภาคเหนือตอนบน :ศึกษาจากเครื่องปั้นดินเผาเวียงเชียงรุ้งเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย เรื่อง เครื่องปั้นดินเผาเวียงเชียงรุ้ง ซึ่งเป็นการเก็บตัวอย่างเครื่องปั้นดินเผาในเขตพื้นที่วัดเวียงเชียงรุ้ง ตำบลทุ่งก่อ อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงใหม่ และบริเวณใกล้เคียง เพื่อจัดทำฐานข้อมูลเครื่องปั้นดินเผาเวียงเชียงรุ้ง ซึ่งประกอบด้วยเครื่องปั้นดินเผาล้านนา สุโขทัย และจีน
การพบเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาต่างๆ มารวมอยู่ในที่แห่งเดียวกัน ประกอบกับที่ตั้งของเวียงเชียงรุ้ง รวมทั้งการพบจารึกเวียงเชียงรุ้ง ทำให้นำไปสู่การตั้งคำถามว่า พื้นที่นี้มีความสำคัญอย่างไร เพราะเหตุใดจึงพบเครื่องปั้นดินเผาเป็นจำนวนมากจากหลายพื้นที่มารวมกันในพื้นที่เดียวกัน จากคำถามดังกล่าวนำไปสู่การศึกษาหาคำตอบด้วยการบูรณาการผลการวิเคราะห์เครื่องปั้นดินเผาจากเวียงเชียงรุ้งกับหลักฐานประวัติศาสตร์เข้าด้วยกัน จากผลของการศึกษาทำให้ได้ข้อสรุปว่า เวียงเชียงรุ้งเคยมีการอยู่อาศัยของชุมชนมาแล้วอย่างน้อยตั้งแต่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 ชุมชนเหล่านี้อาจจะมีทั้งคนที่ตั้งถิ่นฐานถาวรและกลุ่มที่เดินทางผ่านไปมาแวะพักแล้วเดินทางต่อ กลุ่มคนเหล่านี้อยู่กันอย่างต่อเนื่องมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 25 เข้าใจว่าเมืองนี้เริ่มร้างไปเมื่อมีการสร้างถนนและใช้รถยนต์ทำให้การเดินทางสะดวกและรวดเร็วขึ้น การแวะพักระหว่างทางจึงไม่จำเป็นอีกต่อไป ฉะนั้นเมืองนี้จึงค่อยๆ หายไปจนกลายเป็นเมืองร้างไปในที่สุด จากการขุดค้นทางด้านโบราณคดีในปัจจุบันได้พบเมืองในลักษณะเดียวกันนี้อยู่ไม่น้อยในเขตอำเภอพญาเม็งราย อำเภอเวียงชัย และอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย แต่ละเมืองได้พบหลักฐานการอยู่อาศัยทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุกระจัดกระจายโดยทั่วไปเช่นเดียวกับเวียงเชียงรุ้ง