การคุ้มครองสิทธิเด็กภายใต้หลักประโยชน์สูงสุดของเด็กในกฎหมายไทย
คำสำคัญ:
การคุ้มครองสิทธิเด็ก, ประโยชน์สูงสุดของเด็กบทคัดย่อ
ปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับการบัญญัติกฎหมายเพื่อให้ความคุ้มครองเด็กในด้านต่างๆภายใต้กรอบแนวคิดพื้นฐานของ “หลักประโยชน์สูงสุดของเด็ก” อย่างไรก็ตาม การปรับใช้หลักประโยชน์สูงสุดของเด็กมักเกิดความยุ่งยากซับซ้อน และต้องมีการใช้การตีความอย่างระมัดระวัง ด้วยเหตุนี้ การศึกษาเกี่ยวกับวิวัฒนาการของแนวคิดและทฤษฎีนับว่ามีความสำคัญยิ่งในการทำความเข้าใจเพื่อปรับใช้หลักประโยชน์สูงสุดของเด็กได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อไป สำหรับประเทศไทยได้มีการบัญญัติกฎหมายเพื่อให้ความคุ้มครองเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการให้ความคุ้มครองแก่สิทธิขั้นพื้นฐานทั่วไปในฐานะที่เด็กเป็นประธานแห่งสิทธิที่ไม่อาจละเมิดได้ และการคุ้มครองเด็กในกรณีที่เป็นผู้กระทำผิดทางอาญาให้ได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้องเหมาะสม รวมถึงการให้ความคุ้มครองแก่สวัสดิภาพทั่วไปในฐานะที่เด็กคือประชากรซึ่งเป็นกำลังสำคัญและอนาคตของชาติ อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิเด็กแต่ละฉบับมีเจตนารมณ์แตกต่างกันไป ดังนั้น การคุ้มครองสิทธิเด็กให้มีความสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กอย่างแท้จริงจึงเป็นไปได้ยากยิ่งในสภาวะที่ผู้บังคับใช้กฎหมายยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับแนวคิดและสาระสำคัญของหลักประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ ในสังคมที่เด็กถือเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ชุมชน และประเทศ การบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองเด็กจำเป็นที่จะต้องกระทำอย่างระมัดระวังโดยคำนึงถึง “ขอบเขต” และ “ดุลยภาพ” ของการคุ้มครองสิทธิเด็กกับการรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนควบคู่กันไปเพื่อไม่ให้กระทบต่อสิทธิของบุคคลอื่นหรือกระทบต่อการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม จากการศึกษาพบว่า ในทางประวัติศาสตร์ การคุ้มครองสิทธิเด็กในฐานะที่เด็กเป็นประธานแห่งสิทธิ มีแนวคิดที่พัฒนามาจากหลักสิทธิมนุษยชน และถูกพัฒนาเรื่อยมาจนกลายเป็นตราสารระหว่างประเทศ ซึ่งมีความผูกพันในฐานะกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นลายลักษณ์ภายใต้ชื่อ “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ. 1989” ในปัจจุบัน ซึ่งมีข้อสังเกตว่า ประเทศที่เป็นภาคีของอนุสัญญาดังกล่าว รวมถึงประเทศไทย ต่างประสบปัญหาการใช้การตีความหลักประโยชน์สูงสุดอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งสาเหตุของปัญหาความไม่เป็นเอกภาพในการปรับใช้หลักการนี้เกิดจากการที่คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิเด็กไม่ได้กำหนดขอบเขตของนิยามและความหมายของคำว่า “ประโยชน์สูงสุดของเด็ก” ไว้ให้ชัดเจน ทั้งนี้ ปัญหาการปรับใช้หลักประโยชน์สูงสุดของเด็กนั้นแท้จริงอยู่ที่การพิจารณาว่า เมื่อใดจึงจะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก “ในฐานะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด” และเมื่อใดจะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก “ในฐานะเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นลำดับแรก” โดยผลการศึกษาครั้งนี้นำไปสู่ข้อพิจารณาสำคัญเบื้องต้น ในการปรับใช้หลักประโยชน์สูงสุดซึ่งอาจนำมาใช้กับกฎหมายไทยได้ในโอกาสต่อไป
Downloads
เผยแพร่แล้ว
License
ผลงานที่ตีพิมพ์ในวารสารนิติศาสตร์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และวารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สงวนสิทธิในการเผยแพร่ผลงานที่ตีพิมพ์ในแบบรูปเล่มและทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นใด
บทความหรือข้อความคิดเห็นใด ๆ ที่ปรากฏในวารสารนิติศาสตร์เป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนโดยเฉพาะ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบรรณาธิการไม่จําเป็นต้องเห็นด้วยหรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ