การบูรณาการกฎหมายซื้อขายของอาเซียน: ศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายซื้อขายของประเทศไทยและ CISG

ผู้แต่ง

  • จุมพิตา เรืองวิชาธร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

คำสำคัญ:

บูรณาการ, อาเซียน, กฎหมายซื้อขาย, CISG

บทคัดย่อ

ประชาคมอาเซียนก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2510 ปัจจุบันประกอบด้วยชาติสมาชิกทั้งหมดรวม 10 ประเทศ อันได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย บรูไน เวียดนาม ลาว เมียนมา และกัมพูชา มีประชากรรวมประมาณมากกว่า 620 ล้านคน และมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญประการหนึ่งคือ การร่วมกันพัฒนาและบูรณาการในหลาย ๆ ด้าน เพื่อลดอุปสรรคต่าง ๆ ภายในประชาคม โดยหนึ่งในนั้นคือ การจัดทำกฎหมายกลางเพื่อใช้ร่วมกัน อาทิ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสัญญาซื้อขายข้ามพรมแดน หรือสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ

            อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ (The United Nations Convention on Contracts for the International Sale of Goods) หรืออนุสัญญาซื้อขายกรุงเวียนนา (Vienna Sales Convention) หรือในชื่อย่อสั้น ๆ ว่า “CISG” เป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ถูกจัดทำขึ้นโดยคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ (The United Nations Commission on International Trade Law หรือ“UNCITRAL”) ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2523 โดยในปัจจุบัน CISG มีภาคีสมาชิกที่เป็นชาติสมาชิกองค์การสหประชาชาติ รวมทั้งสิ้น 92 ประเทศทั่วโลก ในจำนวนดังกล่าวมีประเทศในประชาคมอาเซียนรวมอยู่ด้วย 2 ประเทศ คือ สิงคโปร์และเวียดนาม และอีก 1 ประเทศ คือ ลาว ที่ CISG จะมีผลบังคบใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ที่จะถึงนี้

            จากการที่ CISG เป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศซึ่งได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกว่าประสบความสำเร็จอย่างกว้างขวาง ทั้งจากจำนวนของภาคีสมาชิกและมูลค่าการซื้อขายที่อยู่ภายใต้การบังคบใช้ของ CISG มาตลอดระยะเวลามากกว่า 35 ปี ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า แทนที่ชาติสมาชิกอาเซียนจะร่วมกันจัดทำกฎหมายกลางสำหรับการซื้อขายในระดับภูมิภาคที่ต้องใช้ทั้งเวลาและความมุมานะอย่างยิ่งยวดขึ้นมา ชาติสมาชิกอาเซียนทั้งหมดที่เหลือซึ่งยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกของ CISG รวมทั้งประเทศไทย ควรพิจารณาเข้าเป็นภาคีสมาชิกของ CISG โดยการดำเนินการดังกล่าว อาจถือได้ว่าเป็น “ทางลัด” ของชาติอาเซียนในการที่จะมีกฎหมายซื้อขายกลางขึ้นมาใช้ร่วมกัน และกฎหมายซื้อขายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เสมือนการยิงกระสุนเพียงนัดเดียวแล้วได้นก 2 ตัว

            ในการสนับสนุนข้อเสนอของผู้เขียนดังกล่าว ผู้เขียนได้นำเสนอข้อมูลและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่ได้จากการค้นคว้าและวิจัย จากแหล่งที่มาซึ่งเป็นสากลและเชื่อถือได้ไว้ในบทความนี้อย่างเป็นลำดับ ง่ายต่อการอ่าน และด้วยความหวังว่า บทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาคมอาเซียนของเราต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-03-24