แนวทางการจัดทำข้อบังคับกลางเกี่ยวกับการจ้างงานของหน่วยงานที่มีสำนักงานสาขาต่างประเทศ
คำสำคัญ:
ข้อบังคับเกี่ยวกับการจ้าง, หน่วยงานที่มีสาขาต่างประเทศ, การจัดทำข้อบังคับบทคัดย่อ
การกำหนดข้อบังคับกลางเกี่ยวกับการจ้างงานของหน่วยงานที่มีสำนักงานสาขาต่างประเทศนั้น มีความแตกต่างและซับซ้อนมากกว่าการกำหนดข้อบังคับในเรื่องอื่นที่คู่สัญญาจะมีเสรีภาพในการทำสัญญา เนื่องจากการทำสัญญาจ้างแรงงานนั้น คู่สัญญามีเสรีภาพอย่างจำกัดภายใต้กฎหมายแรงงาน ทำให้การทำสัญญาจ้างแรงงานนั้นจะต้องคำนึงถึงกฎหมายคุ้มครองแรงงานควบคู่ไปด้วยเสมอ การกำหนดข้อบังคับกลางเกี่ยวกับการจ้างแรงงานจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจระบบการคุ้มครองแรงงานที่เป็นสากลและรายละเอียดของมาตรฐานการคุ้มครองแรงงานของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งผู้เขียนได้สรุปสาระสำคัญไว้ในบทความนี้โดยใช้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นหน่วยงานแม่แบบในการทดลองทำการศึกษา และได้ข้อสรุปจากการศึกษาว่าการจัดทำข้อบังคับกลางเกี่ยวกับการจ้างของหน่วยงานที่มีสำนักงานสาขาต่างประเทศ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้ข้อบังคับกลางมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ทุกสำนักงานสาขาโดยที่ไม่ขัดหรือแย้งกับมาตรฐานคุ้มครองแรงงานของแต่ละประเทศที่มีสำนักงานตั้งอยู่ ดังนั้น ก่อนการร่างข้อบังคับกลางจะต้องวางกรอบประเด็นที่สำคัญที่ต้องการจะกำหนดไว้ในข้อบังคับและทำการศึกษาทำความเข้าใจมาตรฐานการคุ้มครองแรงงานท้องถิ่นของแต่ละประเทศที่ตั้งของสำนักงานให้ชัดเจนในประเด็นนั้น ๆ นอกจากนี้ พบว่ารายละเอียดของมาตรฐานการคุ้มครองแรงงานท้องถิ่นของแต่ละประเทศที่ตั้งของสำนักงานมีความแตกต่างกันอย่างมาก ทำให้ไม่สมควรจะกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพการทำงานไว้ในข้อบังคับกลางเนื่องจากอาจทำให้การจ้างแรงงานขัดแย้งต่อมาตรฐานคุ้มครองแรงงานท้องถิ่นได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้แต่ละสำนักงานสาขามีแนวทางในการจ้างแรงงานที่สอดคล้องกัน จึงยังควรกำหนดประเด็นสำคัญไว้ในร่างข้อบังคับกลางเพื่อเป็นแนวทางหลักให้แต่ละสำนักงานสาขากำหนดร่างสัญญาจ้างในทิศทางเดียวกัน
Downloads
เผยแพร่แล้ว
License
ผลงานที่ตีพิมพ์ในวารสารนิติศาสตร์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และวารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สงวนสิทธิในการเผยแพร่ผลงานที่ตีพิมพ์ในแบบรูปเล่มและทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นใด
บทความหรือข้อความคิดเห็นใด ๆ ที่ปรากฏในวารสารนิติศาสตร์เป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนโดยเฉพาะ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบรรณาธิการไม่จําเป็นต้องเห็นด้วยหรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ