ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างความยินยอมและความจำเป็นเพื่อการปฏิบัติตามสัญญาภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562
คำสำคัญ:
ข้อมูลส่วนบุคคล ความยินยอม สัญญาบทคัดย่อ
ในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องสามารถอ้างอิงฐานทางกฎหมายอย่างน้อยฐานใดฐานหนึ่งตามที่กำหนดไว้ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ซึ่งได้แก่ฐานความยินยอมอันมีสถานะเป็นบทหลัก และฐานทางกฎหมายอื่น ๆ อีก 6 ฐาน รวมถึงฐานความจำเป็นเพื่อการปฏิบัติตามสัญญาอันมีสถานะเป็นบทยกเว้น โดยในการปรับใช้ฐานทางกฎหมายดังกล่าว ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องเริ่มต้นพิจารณาจากฐานทางกฎหมายอื่น ๆ นอกเหนือจากฐานความยินยอม ซึ่งมีลักษณะเป็นข้อยกเว้นของความยินยอมก่อนเสมอ เช่น หากกรณีมีนิติสัมพันธ์ในลักษณะของสัญญาระหว่างผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลและเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย และการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลนั้นเป็นการอันจำเป็นต้องกระทำเพื่อการปฏิบัติตามหน้าที่ตามสัญญาดังกล่าวในทางภาวะวิสัย ซึ่งโดยหลักต้องไม่รวมถึงกรณีที่มีการกำหนดให้เป็นหน้าที่ตามสัญญาของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลในการให้ความยินยอม ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลก็สามารถอาศัยฐานความจำเป็นเพื่อการปฏิบัติตามสัญญาเป็นฐานในการดำเนินการดังกล่าวได้ ตัวอย่างเช่น กรณีของการให้บริการระบบสมาชิกซึ่งผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลได้จัดให้มีข้อตกลงและเงื่อนไขสำหรับการให้บริการดังกล่าวเป็นการเฉพาะ และกรณีของการทำสัญญาว่าจ้างนักแสดงหรือนางแบบเพื่อให้มาปรากฏตัวในสื่อที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากกรณีไม่เป็นไปตามเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งไม่มีฐานทางกฎหมายอื่นใดที่จะสามารถปรับใช้แก่กรณีได้ ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลก็อาจมีความจำเป็นต้องขอความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ตัวอย่างเช่น กรณีของการขอความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่มเติมจากความยินยอมที่ได้รับตามหนังสือให้สิทธิในภาพถ่ายของบุคคล และหนังสือให้ความยินยอมในการวิจัย เป็นต้น โดยความยินยอมดังกล่าวจะต้องเป็นความยินยอมที่ชัดแจ้ง ซึ่งผู้ให้ความยินยอมได้รับทราบข้อมูลที่จำเป็นอย่างครบถ้วน อีกทั้งเป็นความยินยอมที่ให้โดยอิสระ เช่น โดยปราศจากเงื่อนไขในการให้ความยินยอมสำหรับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่มีความจำเป็นหรือไม่เกี่ยวข้องกับการเข้าทำสัญญา ซึ่งรวมถึงการให้บริการด้วย
References
กิตติศักดิ์ ปรกติ, หลักกฎหมายบุคคล (พิมพ์ครั้งที่ 6, วิญญูชน 2556).
เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาค 1 บทบัญญัติทั่วไป (พิมพ์ครั้งที่ 10, เนติบัณฑิตยสภา 2551).
ศนันท์กรณ์ (จำปี) โสตถิพันธุ์, คำอธิบายนิติกรรม-สัญญา (พิมพ์ครั้งที่ 18, วิญญูชน 2557).
สมยศ เชื้อไทย, คำอธิบายวิชากฎหมายแพ่ง: หลักทั่วไป (พิมพ์ครั้งที่ 20, วิญญูชน 2557).
สุพัชรินทร์ อัศวธิตานนท์, 'พัฒนาการของหลักกฎหมาย Volenti non fit injuria: ศึกษาการปรับใช้กับประเทศไทย' (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2551).
เสนีย์ ปราโมช, หม่อมราชวงศ์, ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและหนี้ (เล่ม 1, ภาค 1-2, มุนินทร์ พงศาปาน ผู้ปรับปรุงแก้ไข, พิมพ์ครั้งที่ 3, วิญญูชน 2559).
Article 29 Data Protection Working Party, 'Opinion 15/2011 on the definition of consent' (2011).
European Data Protection Board, Guidelines 2/2019 of the European Data Protection Board on the processing of personal data under Article 6(1)(b) GDPR in the context of the provision of online services to data subjects (EDPB, 2019).
European Data Protection Board, Guidelines 05/2020 of the European Data Protection Board on Consent under Regulation 2016/679 (EDPB, 2020)
General Data Protection Regulation.
Downloads
เผยแพร่แล้ว
License
Copyright (c) 2023 วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
ผลงานที่ตีพิมพ์ในวารสารนิติศาสตร์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และวารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สงวนสิทธิในการเผยแพร่ผลงานที่ตีพิมพ์ในแบบรูปเล่มและทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นใด
บทความหรือข้อความคิดเห็นใด ๆ ที่ปรากฏในวารสารนิติศาสตร์เป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนโดยเฉพาะ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบรรณาธิการไม่จําเป็นต้องเห็นด้วยหรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ