ปัญหาเกี่ยวกับบทบัญญัติที่รับรอง “เสรีภาพทั่วไป” ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

ผู้แต่ง

  • ชลสิทธิ์ อัจฉริยะประสิทธิ์ นักวิชาการอิสระ

คำสำคัญ:

เสรีภาพทั่วไป, สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ, ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

บทคัดย่อ

ข้อความคิดหลาย ๆ อย่างที่มีความยึดโยงมาจากหลักนิติรัฐและหลักประชาธิปไตยอย่างสากลถูกนำมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญไทยหลายฉบับ แต่กลับปรากฏว่าข้อความคิดเหล่านั้นบ้างถูกนำมาปรับใช้หรือบ้างก็ถูกละเลยที่จะนนำมาปรับใช้อย่างไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐและหลักประชาธิปไตย อย่างสากล ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เป็นปัญหาสำคัญของระบบรัฐธรรมนูญไทย โดยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันก็มีบทบัญญัติมาตรา 25 วรรค 1 ที่เป็นบทบัญญัติที่ได้รับการอธิบายจากฝ่ายคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ของรัฐธรรมนูญ อันเป็นสิ่งที่ช่วยขยายความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลโดยได้รับอิทธิพลมาจาก ข้อความคิดในเรื่อง “เสรีภาพทั่วไป” ในระบบของรัฐธรรมนูญในต่างประเทศ อย่างไรก็ดี มาตรา 25 วรรค 1 กลับมีความแตกต่างจากบทบัญญัติที่ว่าด้วย "เสรีภาพทั่วไป" ในระบบของรัฐธรรมนูญในต่างประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ

ในประการแรก เป็นเรื่องการใช้ถ้อยคำที่มีปัญหาในการสื่อถึงคุณค่าของสิทธิเสรีภาพในมาตราดังกล่าวว่ามีความยึดโยงกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพในมาตราอื่น ๆ อย่างไร ในประการถัดมา เป็นเรื่องการใช้ถ้อยคำที่มีปัญหาในการสื่อถึงระดับความคุ้มครองของสิทธิเสรีภาพในมาตราดังกล่าวว่าได้รับการคุ้มครองในสถานะใดและขอบเขตที่จะได้รับการคุ้มครองแค่ไหน หรือในประการสุดท้าย เป็นเรื่องการใช้ถ้อยคำที่มีปัญหาในการกำหนดกรอบจำกัดสิทธิเสรีภาพในมาตราดังกล่าวว่ามีเนื้อหาและวิธีการที่สามารถจำกัดสิทธิเสรีภาพในมาตราดังกล่าวมีในระดับใด ซึ่งปัญหาที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น สะท้อนให้เห็นนิติวิธีและคุณค่าในทางรัฐธรรมนูญไทยที่มีความแตกต่างจากหลักสากล โดยได้รับการยืนยันถึงความเป็นปัญหาของมาตราดังกล่าวโดยปริยายผ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ในการศึกษาถึงปัญหานี้ ได้ใช้วิธีการมุ่งพิจารณาจากถ้อยคำและตำแหน่งแห่งที่ โดยเปรียบเทียบกันระหว่างบทบัญญัติที่ว่าด้วย “เสรีภาพทั่วไป” ในระบบรัฐธรรมนูญต่างประเทศและระบบรัฐธรรมนูญไทยที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้ปัญหาเกี่ยวกับบทบัญญัติที่รับรอง “เสรีภาพทั่วไป” ในรัฐธรรมนูญไทยมีความชัดเจนมากขึ้น และเพื่อค้นหาคุณค่าที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐและหลักประชาธิปไตยและซ่อนเร้นปะปนไปกับคุณค่าที่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐและหลักประชาธิปไตยอยู่ในรัฐธรรมนูญไทยและนิติวิธีในทางรัฐธรรมนูญของไทยในเรื่อง “เสรีภาพทั่วไป”

References

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยคณะอนุกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ, สรุปหลักการสำคัญร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้น (pdf, ฝ่ายผลิตเอกสาร สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 2559).

คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ, สรุปสาระสำคัญรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โครงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจรัฐธรรมนูญแก่สื่อมวลชน (pdf, ไม่ปรากฏสํานักพิมพ์ 2561).

ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์, ทฤษฎีสิทธิขั้นพื้นฐาน (พิมพ์ครั้งที่ 2, วิญญูชน 2562).

ธีระ สุธีวรางกูร, ระบบศาลและการพิจารณาคดีของศาลในกฎหมายมหาชน (โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2563).

บรรเจิด สิงคะเนติ, 'เสรีภาพทั่วไปและข้อจำกัดการใช้เสรีภาพตามมาตรา 25 รัฐธรรมนูญ 2560' ใน อานนท์ มาเม้าและคณะ (บรรณาธิการ) 60 ปี อุดม รัฐอมฤต ชีวิตและมิตรภาพบนเส้นทางวิชาการ (คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2562).

บรรเจิด สิงคะเนติ, หลักพื้นฐานสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (พิมพ์ครั้งที่ 6, สํานักพิมพ์วิญญูชน 2562)

วรเจตน์ ภาคีรัตน์, คำสอนว่าด้วยรัฐและหลักกฎหมายมหาชน (พิมพ์ครั้งที่ 3, สำนักพิมพ์อ่านกฎหมาย 2564).

วริษา องสุพันธ์กุล, 'ปัญหาการปรับใช้หลักความพอสมควรแก่เหตุกับการจำกัด “เสรีภาพทั่วไป” ที่ได้รับการรับรองไว้ในมาตรา 25 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560' (2564) 50(1) วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 39.

สมยศ เชื้อไทย, คำอธิบายวิชากฎหมายแพ่ง : หลักทั่วไป (พิมพ์ครั้งที่ 24, สํานักพิมพ์วิญญูชน 2561).

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 (pdf, สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขานุการสภาผู้แทนราษฎร ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์).

Christian Bumke and Andreas Voßkuhle, German Constitutional Law: Introduction, Cases, and Principles (Oxford Constitutions of the World 2019).

Edward J. Eberle, 'Observations on the Development of Human Dignity and Personality in German Constitutional Law: An Overview' (2012) 33 Liverpool Law Review 201.

Rainer Grote, ' The French Republic: Introductory Note' (2008 <https://oxcon.ouplaw.com/view/10.1093/law:ocw/cm478.document.1/law-ocw-cm478?rskey=3S7UfA&result=1&prd=OXCON#law-ocw-cm478-note-39> สืบค้นเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-06-30