ปัญหาของระบบเลือกตั้ง “บัตรใบเดียว” ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กับปัญหาการบริหารจัดการเลือกตั้ง : ศึกษาจากการเลือกตั้ง 2562 และการแก้ไขกลับไปเป็นระบบ “บัตรสองใบ” ในการเลือกตั้ง 2566

ผู้แต่ง

  • ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คำสำคัญ:

ระบบบัตรใบเดียว, ระบบบัตรสองใบ, ระบบคู่ขนาน, ระบบสัดส่วนผสม, ระบบเลือกตั้ง

บทคัดย่อ

การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งและการบริหารจัดการเลือกตั้งหลายประการ วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้คือประเมินผลและศึกษาปัญหาของระบบใหม่ เพื่อนำไปสู่การเสนอแก้ไขปรับปรุงระบบเลือกตั้งและการบริหารจัดการเลือกตั้ง โดยในเรื่อง ระบบเลือกตั้ง นั้น แม้ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จะยังคงมี ส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อ แต่ไม่มีการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่ออีกต่อไป เหลือเพียงการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตโดยให้ใช้คะแนนแบบแบ่งเขตกำหนดจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ ระบบที่ถูกเรียกว่า “ระบบบัตรใบเดียว” นี้ก่อให้เกิดปัญหามากมายหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความซับซ้อนในการคำนวณ และการมีวิธีคำนวณได้มากกว่าหนึ่งวิธีที่นำมาซึ่งความได้เปรียบเสียเปรียบของพรรคการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาล ที่สำคัญยังทำให้จำนวนผู้สมัครแบบแบ่งเขตเพิ่มขึ้น 4.5 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อน จึงทำให้เกิดปัญหาความผิดพลาดมากขึ้นในการบริหารจัดการเลือกตั้ง

ผู้เขียนได้เสนอให้ประเทศไทยกลับไปใช้ “ระบบบัตรสองใบ” โดยมีสองทางเลือกคือ (1) ระบบคู่ขนาน (Parallel System) คือประชาชนมีสองคะแนนตามที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 (2) ระบบสัดส่วนผสม (Proportional Representation) ซึ่งจะใช้คะแนนที่เลือกบัญชีรายชื่อกำหนดจำนวน ส.ส. ทั้งสภาของแต่ละพรรค จากนั้นนำจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตมาของแต่ละพรรคมาหักออก ผลคือจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค อย่างไรก็ตามในปี 2564 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรนูญ และได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้ง ส.ส. กลับไปหาระบบบัตรสองใบแบบระบบคู่ขนานอีกครั้งแล้ว โดยได้ใช้ในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งจะได้ศึกษาและวิเคราะห์ต่อไป

ในเรื่อง การบริหารจัดการเลือกตั้ง ได้มีการยกเลิกคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด และให้มี “ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด” ขึ้นมาแทน แต่จากการศึกษาพบว่า ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดไม่มีประสิทธิภาพและไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้เลย ปัญหาสำคัญยิ่งกว่าคือ บัตรเลือกตั้ง ที่มีแต่หมายเลขผู้สมัคร ไม่มีชื่อผู้สมัครและไม่มีชื่อพรรคที่สังกัด และหมายเลขของผู้สมัครในพรรคเดียวกันในแต่ละเขตก็ยังกำหนดให้แตกต่างกัน ทำให้ผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งมีความสับสนในการใช้สิทธิ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่อง การแบ่งเขตเลือกตั้ง แม้ว่าจะได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมืองและผู้เกี่ยวข้อง แต่ กกต.จะลงมติเลือกอย่างไรก็ได้โดยที่ไม่ต้องคำนึงถึงความเห็นที่ไปรับฟังมา นอกจากนี้แล้ว การจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า ได้ใช้วิธีการที่ยุ่งยาก สิ้นเปลืองงบประมาณ และกำลังคน ทั้งยังมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้มาก ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ควรจะได้การเก็บข้อมูลจากการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 เพื่อนำเสนอแนวทางแก้ไขต่อไป

References

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, ‘คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อต้องใช้สูตรไหน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ขัดรัฐธรรมนูญอย่างไร?’ (The Standard, 2562).

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, โครงการวิจัยประเมินผลการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 (สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2562).

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, ‘ประเด็นสำคัญที่พึงมีและควรแก้ไขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 : การได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร’ (สถาบันพระปกเกล้า, 2565).

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, ‘ปัญหาของระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐’ (ที่ประชุมวิชาการประจำปี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) 17 ธันวาคม 2550).

Andrew Reynolds, Electoral System Design : the New International IDEA Handbook (International IDEA, 2004).

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2024-03-31