Non-Audit Products: นวัตกรรมใหม่ขององค์กรตรวจเงินแผ่นดินในประเทศไทย

ผู้แต่ง

  • นนทกร เกรียงศิริ สำนักวิชาการและให้คำปรึกษาการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

คำสำคัญ:

การตรวจเงินแผ่นดิน, ปฏิญญามอสโก, บทบาทในฐานะที่ปรึกษา, ผลผลิตของงานที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับงานตรวจสอบ, คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน, พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561

บทคัดย่อ

          ในการประชุมสมัชชาองค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดระหว่างประเทศ (INCOSAI) ครั้งที่ 23 ณ กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย ประเทศสมาชิกได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาขีดความสามารถของสถาบันการตรวจสอบสูงสุด (Supreme Audit Institutions: SAIs) ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเพิ่มคุณค่าของการตรวจสอบสาธารณะโดยการให้คำแนะนำบนพื้นฐานของการตรวจสอบ (Audit-Based Advice) ในประเด็นสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ต่อรัฐสภา รัฐบาล และการบริหารราชการ ดังที่ปรากฏอยู่ในปฏิญญามอสโก (Moscow Declaration) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของผลผลิตของงานชนิดใหม่ที่เรียกว่า Non-Audit Products

          ประเทศไทยแม้ว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 จะมีการประกาศใช้ก่อนปฏิญญามอสโก โดยมีบทบัญญัติในหลายมาตราที่รองรับในเรื่องของ Non-Audit Products อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของ Non-Audit Products นั้น ยังนับว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทยที่ยังมีความเห็นและความเข้าใจที่ไม่ตรงกันอยู่ ทำให้ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่สามารถเริ่มก้าวแรกที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าวได้อย่างเต็มที่

          นอกจากนี้ การนำมโนทัศน์ในเรื่องของ Non-Audit Products ที่ปรากฏอยู่ในปฏิญญามอสโกมาใช้ในประเทศไทยนั้น จำเป็นต้องศึกษาบทบัญญัติแห่งกฎหมายของไทย ซึ่งในที่นี้คือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 ประกอบด้วยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวบัญญัติหน้าที่และอำนาจไว้ครอบคลุมกรณีของ Non-Audit Products มากหรือน้อยเพียงใด เพื่อให้การรับแนวทางในเรื่องของ Non-Audit Products เข้ามาปรับใช้ในประเทศไทยนั้น ถูกต้องสอดคล้องและไม่เกินเลยไปจากบทบัญญัติที่กฎหมายของประเทศไทยได้บัญญัติไว้

          ตลอดจนการศึกษา Non-Audit Products เปรียบเทียบกับหน้าที่และอำนาจที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 กำหนดไว้ ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันในสาระสำคัญหรือไม่ ประการใด เพื่อนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายต่อไปในอนาคต

          การทำความเข้าใจในเรื่องของ Non-Audit Products ให้ถูกต้องตรงกันจึงนับว่ามีความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของสถาบันการตรวจสอบสูงสุดของประเทศ ซึ่งหมายถึงสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของปฏิญญามอสโก และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติได้ต่อไป

References

วรพจน์ วิศรุตพิชญ์, ‘การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองโดยเจ้าหน้าที่หรือผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งทางปกครอง’ (เอกสารวิชาการส่วนบุคคล หลักสูตร “ผู้บริหารกระบวนยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.)” รุ่นที่ 15 วิทยาลัยการยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม 2554)

วรพจน์ วิศรุตพิชญ์, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับศาลปกครอง (วิญญูชน 2544).

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน, องค์ความรู้ด้านการตรวจเงินแผ่นดินต่างประเทศ (เล่ม 2, สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน2566).

สุทธิ สุนทรานุรักษ์ ปิติคุณ นิลถนอม และดุสิตา เลิศไกร, ปฏิญญามอสโก 2562 ทิศทางการตรวจเงินแผ่นดินในอนาคต <https://www.audit.go.th/sites/default/files/files/article/2_Moscow%20Declaration_content.pdf> สืบค้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2567.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2024-09-30