ตลาดการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560: ตลาดนโยบายในคราบตลาดอุดมการณ์

Main Article Content

ปวร เกียรติยุทธชาติ

บทคัดย่อ

ภายใต้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญที่มองว่าระบบการเมืองเป็น ตลาด (Markets) ในรูปแบบหนึ่ง และเชื่อว่าตัวแสดงทางการเมืองต่างประพฤติตนตามทฤษฎีการตัดสินใจอย่างเป็นเหตุเป็นผลโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือส่งผ่าน แรงจูงใจไปยังตลาดการเมืองและตัวแสดงทางการเมือง


การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รวมไปถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญสำคัญจึงย่อมก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญในตลาดการเมือง จากเดิมซึ่งเป็นตลาดผู้ขายน้อยรายที่มีผู้ขายหลักเพียงสองรายสู่การกลายสภาพเป็นตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาดที่มีผู้ขายจำนวนมาก ผ่านการสร้างอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของพรรคการเมือง ด้วยกำหนดระเบียบวิธีการเลือกตั้งให้ลดอรรถประโยชน์ของพรรคการเมืองพรรคหนึ่งและเอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคการเมืองพรรคหนึ่งเป็นการเฉพาะ


นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังมุ่งเปลี่ยนแปลงเป้าประสงค์ของตลาดการเมืองด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการทำลายความเป็นตลาดนโยบายของตลาดการเมืองและการทำให้กระบวนการแลกเปลี่ยนในตลาดการเมืองมิอาจทำให้ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้รับอรรถประโยชน์สูงสุดทั้งจากนโยบายระดับเขตเลือกตั้งและนโยบายระดับชาติตามที่ตนต้องการแก่ประการใด


               ด้วยเหตุที่กล่าวมาข้างต้น การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดการเมือง โดยเฉพาะผลกระทบต่อการตัดสินใจของตัวแสดงทั้งหมดในตลาดการเมืองไม่ว่าจะเป็นราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้ง นักการเมืองและพรรคการเมือง ต่อเนื่องไปถึงพฤติกรรมของตัวแสดงทางการเมือง อุปสงค์ อุปทาน และดุลยภาพในตลาดการเมือง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ทำให้ตลาดการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แปรสภาพจากการเป็น ตลาดนโยบายเฉกเช่นตลาดการเมืองทั่วไป ไปสู่รูปแบบของตลาดอุดมการณ์ ที่มีคุณลักษณะเฉพาะของตนและแตกต่างจากกรณีโดยทั่วไป

Article Details

บท
Articles