การประกันวินาศภัยกับการลดความเสี่ยงภัยพิบัติ แผ่นดินไหวและอาคารถล่มในประเทศไทย

Main Article Content

ศิกานต์ อิสสระชัยยศ

บทคัดย่อ

บทความวิจัยนี้มุ่งศึกษามาตรการที่ไม่ใช่เชิงโครงสร้าง (Non-structural measures) เพื่อลดความเสี่ยงภัยพิบัติแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม โดยเน้นศึกษามาตรการ/เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ด้านการประกันภัย งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสำรวจและศึกษาการใช้เครื่องมือการประกันภัยพิบัติ (หรือการประกันวินาศภัย) โดยเฉพาะภัยแผ่นดินไหวและอาคารถล่มในต่างประเทศและประเทศไทย ปัญหาหรืออุปสรรคของการใช้เครื่องมือด้านการประกันภัยในการลดความเสี่ยงภัยพิบัติแผ่นดินไหวและอาคารถล่มในประเทศไทยและในจังหวัดเชียงรายซึ่งเป็นจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดภัยแผ่นดินไหว ตลอดจนเสนอแนะแนวทางและกลไกในการนำเครื่องมือการประกันภัยพิบัติมาใช้ให้เกิดประโยชน์และแพร่หลายมากยิ่งขึ้นในประเทศไทย งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงประยุกต์ (Applied Research) เป็นการศึกษาวิจัยเพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้มาวิเคราะห์และสังเคราะห์เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการจัดการลดความเสี่ยงภัยพิบัติในประเทศไทย โดยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพประกอบด้วย การศึกษาวิจัยเอกสาร (Documentary Research) การประชุมเชิงปฏิบัติการ (Focus group) และการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview) โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งจากส่วนกลางและในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ผลการวิจัยพบว่า ประเทศไทยมีการใช้เครื่องมือการประกันภัยพิบัติอย่างจำกัด และอุปสรรคสำคัญของการนำเครื่องมือดังกล่าวไปใช้คือ อุปสงค์หรือความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์การประกันภัยพิบัติยังมีไม่มากนัก สาเหตุหลักเกิดจากการที่ประชาชนขาดความตระหนักถึงความเสี่ยงภัยพิบัติและ/หรือมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะซื้อประกันภัย ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการประกันวินาศภัย ภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทเป็นผู้ริเริ่มและร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมให้มีการเอาประกันภัยโดยใช้วิธีการต่าง ๆ อาทิ การอุดหนุนเบี้ยประกันภัย การกำหนดให้การประกันวินาศภัยเป็นกรมธรรม์ภาคบังคับ และ/หรือการให้แรงจูงใจทางภาษีเพื่อส่งเสริมการทำประกันวินาศภัย และควรมีแผนเปลี่ยนผ่านในการดำเนินการที่เหมาะสม

Article Details

บท
บทความวิจัย