บทบรรณาธิการ

ย้อนกลับไปกลางปี พ.ศ. 2557 ทางคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เริ่มพิจารณาถึงความจำเป็นที่จะต้องมีวารสารทางวิชาการเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งฉบับ เพื่อเป็นช่องทางเพิ่มเติมสำหรับการตีพิมพ์ และเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ ท้ายที่สุด โครงการจึงค่อยๆ ถูกผลักดัน โดยมีพวกเราเข้ามาช่วยกันดูแลตามกำลังความสามารถของแต่ละคน

วัตถุประสงค์กว้างๆ ของวารสารฉบับนี้ก็อย่างที่ได้เกริ่นไปข้างต้น คือ เพื่อเป็นพื้นที่นำเสนอผลงานทางวิชาการ ทั้งในรูปบทความวิจัย บทความวิชาการ และบทปริทัศน์หนังสือ (Book review) เพราะในอนาคตข้างหน้า ความตื่นตัวในการผลิตผลงานทางวิชาการน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงสมควรมีสื่อกลางอย่างเพียงพอให้ข้อถกเถียงใหม่ๆ ได้ถูกนำเสนอ และถูกทบทวนถกเถียง ซึ่งท้ายที่สุดจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยน และการพัฒนาเป็นองค์ความรู้ อย่างไรก็ดี เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับ”รัฐศาสตร์สาร” อันเป็นวารสารเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงของคณะ มากจนเกินไป เราจึงต้องวางกรอบให้วารสารฉบับนี้นำเสนอผลงานทางวิชาการที่มุ่งเชื่อมโยงมิติทางทฤษฎี และมิติทางปฏิบัติเข้าด้วยกันเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ อีกเรื่องหนึ่งที่ควรบันทึกไว้ ณ ที่นี้ด้วยคือ เมื่อพวกเราเริ่มทำวารสารฉบับนี้ ปัญหาสำคัญอันหนึ่งที่ต้องเผชิญย่อมหนีไม่พ้นเรื่องชื่อ ซึ่งในทีแรก เราเกือบจะลงหลักปักฐานกับชื่อ “รัฐศาสตร์ปริทัศน์”ก่อนค้นพบว่า ชื่อดังกล่าวได้มีผู้นำไปใช้ทำเป็นวารสารแล้ว สุดท้าย พวกเราจึงต้องกลับมาตั้งต้นกันใหม่ แต่ก็โชคดีที่ อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กรุณาให้คำแนะนำว่า ในอดีต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยมีวารสารทางวิชาการฉบับหนึ่งชื่อ “รัฐศาสตร์นิเทศ” ซึ่งพอไปสืบค้นข้อมูลก็พบว่า วารสารดังกล่าวเคยถูกเผยแพร่อย่างต่อเนื่องระหว่างปี พ.ศ. 2505-2520 ก่อนจะหายสาบสูญไปโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเราจึงเลือกนำชื่อ “รัฐศาสตร์นิเทศ” มาใช้สำหรับวารสารฉบับนี้ โดยมองว่า เป็นการรื้อฟื้นของเก่าที่คณะเคยมีอยู่ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง แม้ว่าวัตถุประสงค์ และเงื่อนไขต่างๆ จะแตกต่างกันอย่างมากก็ตาม

สำหรับวารสาร “รัฐศาสตร์นิเทศ” เล่มแรกที่ท่านกำลังถืออยู่ในมือนี้ประกอบไปด้วยบทความ 5 ชิ้นด้วยกันคือ

  1. “‘แผ่นดินไหวเนปาล:’ บทเรียนการสนับสนุนปฏิบัติการฉุกเฉินระหว่างประเทศทางการแพทย์และสาธารณสุขของไทย” โดย ทวิดา กมลเวชช และภูมินทร์ ศิลาพันธ์
  2. “ยุคแห่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจกับการเมืองว่าด้วยการนำนโยบายไปปฏิบัติ: เปรียบเทียบไทยและเกาหลีใต้ช่วง พ.ศ.2504-2509” โดย ชุติเดช เมธีชุติกุล
  3. “บทวิเคราะห์วรรณคดีกับการติดสินบน” โดย ธวัชชัย พิณะพงษ์
  4. “พลวัตของวาทกรรมอำมาตยาธิปไตยหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” โดย มารุต เต็มรัก
  5. “จากนักวิชาการสู่ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง: ชีวิตทางการเมืองและนโยบายของซบิกนิว เบรซซินสกี (Zbigniew Brzezinski)” โดย ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์

แต่ละบทความนำเสนอมุมมอง และกรณีศึกษาที่แตกต่างกันอย่างมาก ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับวารสารที่ต้องการความหลากหลาย ขณะเดียวกัน ผู้เขียนบทความเหล่านี้ก็ยังพยายามตกผลึกประเด็นเชิงนโยบายที่น่านำไปพิจารณากันต่อด้วย

ทางกองบรรณาธิการหวังว่า วารสารน้องใหม่ฉบับนี้จะสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างมั่งคงในอนาคต และจะช่วยสร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการได้ไม่มากก็น้อย แต่แน่นอนว่า การเริ่มต้นมักเป็นเรื่องลำบาก และมีข้อจำกัดที่ต้องเผชิญอยู่มาก จึงยังมีสิ่งที่ทางกองบรรณาธิการจะต้องปรับปรุงกันต่อไป ทั้งในส่วนหน้าฉากที่ปรากฏเป็นรูปเล่มให้ท่านผู้อ่านได้เห็น และส่วนหลังฉากที่เป็นกระบวนการบริหารจัดการ

กองบรรณาธิการวารสารรัฐศาสตร์นิเทศ

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เผยแพร่แล้ว: 26-02-2019