บทบรรณาธิการ

วารสารรัฐศาสตร์นิเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับนี้ อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “ฉบับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก” ซึ่งมีบทความของนักวิชาการหลายท่านที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องพลวัตเชิงอำนาจและความมั่นคงในกรณีศึกษาต่างๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป เวลาพูดถึงคำว่า “เอเชีย-แปซิฟิก” ออกจะดูกว้างขวาง ซึ่งแต่เดิมการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมักจะศึกษาแยกส่วนออกเป็น “เอเชียตะวันออก” และ “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เสียมากกว่า เอเชีย-แปซิฟิกในศตวรรษที่ 21 ดูเหมือนจะเป็นอาณาบริเวณ “เกิดใหม่” (Emerging) หนึ่งในการเมืองโลกที่มีพลวัตการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมหาศาล ทั้งในแง่ของการก่อตัว-ปรากฏ/การปรากฏขึ้นใหม่/การหวนคืนของปรากฏการณ์ร่วมสมัย ประเด็นปัญหาที่ท้าทายการเมืองโลก หรือกรณีศึกษาต่างๆ เช่น การผงาดขึ้นมาของจีน, TPP, โรฮิงจา, การค้ามนุษย์, การก่อการร้าย และอื่นๆ รวมทั้งประเด็นยอดฮิตติดตลาดอย่าง “ประชาคมอาเซียน” และในแง่ของปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศ-ระหว่างภูมิภาค-ภายในภูมิภาค-ข้ามรัฐ-ข้ามชาติ ซึ่งทำให้คำว่า “เอเชีย-แปซิฟิก” ได้รับความสนใจทางวิชาการและนโยบายสาธารณะมากขึ้นทุกทีๆ ด้วยเหตุดังนี้ก็ทำให้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกนั้นกลายเป็น “สนามประลอง” ทางทฤษฎีหรือกรอบการศึกษาหรือคำอธิบายต่างๆ ในวงวิชาการการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่พยายามจะแสวงหาคำอธิบายหรือทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ โดยงานวิชาการบางชิ้นก็พยายามเพิ่มเติมเสนอทางออกหรือข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้ด้วย บางกลุ่มก็พยายามนำเสนอตัวแบบหรือโมเดลเพื่อคาดคะเนหรือ “ทำนาย” สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต      

แน่นอน การถกเถียงหรือความไม่มีสมานฉันท์ในสาขาวิชาย่อมก่อให้เกิดการสนทนาแลกเปลี่ยนที่กว้างไกลเหลือคณา และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาต่อยอดสาขาวิชาต่อไป ในเชิงความพยายามเพื่อการสร้างคำอธิบายหรือการทำความเข้าใจปรากฏการณ์หรือกรณีศึกษาต่างๆ เราก็จะพบกับการถกเถียงแบบคลาสสิค เช่น ปัจจัยระหว่างประเทศ-ปัจจัยภายในประเทศ (Aussenpolitik-Innenpolitik) การอภิปรายโดยอาศัยกรอบการวิเคราะห์แบบระดับการวิเคราะห์หรือ levels of analysis หรือที่ Kenneth N. Waltz (1959; 1979) นักวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนามอุโฆษ เรียกว่า three images – อันประกอบไปด้วย the first image ว่าด้วยธรรมชาติของมนุษย์ the second image ว่าด้วยการเมืองภายในของรัฐ และ the third image ว่าด้วยระบบการเมืองระหว่างประเทศภายใต้สภาวะอนาธิปไตย – หรือแม้กระทั่งแนวความคิดของ Peter Gourevitch (1978) เรื่อง second image reversed ซึ่งเสนอให้พิจารณาปัจจัยการเมืองภายในที่ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยระหว่างประเทศ หรือนักวิชาการสาย neo-Gramscian เรียกว่า internationalization of the state กรอบการวิเคราะห์ทั้งหลายเหล่านี้พิจารณาการเมืองระหว่างประเทศโดยมุ่งเน้นรัฐเป็นตัวแสดงหลักอยู่ ในขณะที่ปัจจุบันก็มีการพิจารณาระดับการวิเคราะห์ที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ระดับมนุษย์ ระดับข้ามรัฐ ระดับโลก ระดับสิ่งแวดล้อมหรือชีวมณฑล รวมทั้งการดึงดูดปัจจัยอื่นๆ เข้ามามากมายไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ อุดมการณ์ กระแสความคิด ความมั่นคงรูปแบบใหม่ ชนชั้น เพศสภาพ ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ ศาสนา หลังอาณานิคม ฯลฯ

วารสารรัฐศาสตร์นิเทศ ฉบับนี้ ประกอบด้วยบทความวิจัย 5 บทความ ดังนี้

บทความแรก “การหวนคืนของภูมิรัฐศาสตร์? มหาอำนาจกับกรณีพิพาททะเลจีนใต้” โดย จิตติภัทร พูนขำ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและนโยบายต่างประเทศของมหาอำนาจ บทความนี้ศึกษาวิจัยการแข่งขันทางอำนาจและภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจหลักทั้งสองของโลก นั่นคือสหรัฐฯ และจีนในกรณีพิพาททะเลจีนใต้ ซึ่งทำให้การอ้างกรรมสิทธิ์เหนือของจีนและรัฐชายฝั่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บริเวณหมู่เกาะต่างๆ มีความซับซ้อนมากขึ้น นโยบายการหันกลับมายังเอเชียของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการเรียกร้องให้รัฐคู่พิพาทเคารพหลักการเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนมองว่าบริเวณดังกล่าวเป็น “เขตอิทธิพล” ของตนภายใต้แผนที่เส้นประ 9 เส้น ทำให้จีนก็มีท่าทีและนโยบายที่แข็งกร้าวมากขึ้น และพร้อมที่จะปกป้องผลประโยชน์หลักของตน ในขณะที่รัฐคู่พิพาทต่างๆ ก็ยืนกรานสิทธิอำนาจโดยฝ่ายเดียวของตนอย่างแข็งกร้าวมากขึ้น และพยายามแสวงหาพันธมิตรกับสหรัฐฯ กรณีพิพาททะเลจีนใต้จึงหวนกลับมาเป็นประเด็นร้อนแรงอีกครั้ง บทความนี้ยังพิจารณากระบวนการบริหารจัดการความขัดแย้งในกรอบกฎหมายระหว่างประเทศ และกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาค ซึ่งยังมีความลักลั่นอยู่มาก โดยบทความนี้เสนอว่า มหาอำนาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความขัดแย้งนี้หาข้อยุติได้ยากยิ่ง  

บทความชิ้นที่ 2 “พลวัตการเมืองภายในต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเท​ศ: ศึกษากรณีความขัดแย้งและความร่วมมือไทย-เมียนมา (1997-2006)” โดย ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศศึกษาและนโยบายต่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสนอว่า ปัจจัยภายในการเมืองของเมียนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ “เปิดประเทศ” ของรัฐบาลทหารพม่า มีอิทธิพลสำคัญที่สุดต่อการปรับความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและเมียนมา ทั้งทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนในช่วงทศวรรษที่ 1990 ต่อเนื่องจนถึงช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 บทความนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน แต่เน้นย้ำถึงปัจจัยภายในประเทศของทั้งสองรัฐเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยในเชิงโครงสร้างทางกายภาพในบริเวณชายแดนที่มีความไม่ชัดเจน และมรดกตกทอดทางประวัติศาสตร์ของเมียนมา ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์เกิดขึ้นได้อย่างหลากหลายต่างมิติ ทั้งความร่วมมือและความขัดแย้งในแต่ละช่วงเวลาโดยเสนอว่าความเป็นไปและความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์จึงมีแนวโน้มที่จะได้รับอิทธิพลจากองค์ประกอบภายในของแต่ละประเทศ รวมถึงผลสะท้อนกลับอย่างเป็นพลวัต หาใช่จะได้รับเอิทธิพลจากระบบระหว่างประเทศหรือปัจจัยภายนอกเพียงมิติเดียวไม่ อย่างไรก็ตาม การพิจารณากรณีความสัมพันธ์ไทย-เมียนมาในห้วงเวลาที่ศึกษา พบว่าการเมืองภายในของไทยกลับแสดงอิทธิพลอย่างสำคัญต่อการขับเคลื่อนระดับความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งและความร่วมมือ

บทความชิ้นที่ 3 ชื่อ “ความขัดแย้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยและผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับประเทศมาเลเซีย” โดย ชนินท์ทิรา ณ ถลาง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนโยบายต่างประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอินโดนีเซีย บทความนี้เสนอว่า ความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่มีความสุ่มเสี่ยงที่จะกระทบต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย แต่สิ่งที่น่าสนใจคือทั้ง 2 ประเทศสามารถรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระดับที่ดีไว้ได้ ทั้งๆ ที่มีปัจจัยและปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากความขัดแย้งที่อาจจะมีผลในเชิงลบต่อความสัมพันธ์ทวิภาคี อย่างเช่น ปัญหาผู้ลี้ภัย ความมั่นคงของมนุษย์ การละเมิดสิทธิมนุษยชน และอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งล้วนแต่มีผลต่อความมั่นคงชายแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซียทั้งสิ้น

บทความนี้เสนอว่า ในที่สุดปัจจัยทั้งในประเทศและระหว่างประเทศจะเป็นปัจจัยผลักดันหรือส่งเสริมให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลมาเลเซียรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดีไว้ได้ ชนินท์ทิราเน้นถึงปัจจัยทางด้านการเมืองภายในของมาเลเซียเอง นั่นคือ ตั้งแต่ในช่วงสงครามเย็นเป็นต้นมา พรรค UMNO ซึ่งถือครองอำนาจหลังเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนมลายูและคนจีนในพ.ศ. 2512 มีจุดยืนและแนวทางต่อปัญหาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ในลักษณะที่สอดคล้องกับหลักการไม่แทรกแซงระหว่างกันของอาเซียน แม้ว่าพรรคการเมืองฝ่ายค้านอย่าง Parti Islam se Malaysia (PAS) จะเห็นอกเห็นใจหรือสนับสนุนการเคลื่อนไหวพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ความเห็นใจดังกล่าวไม่เคยถูกแปรออกมาเป็นนโยบาย หรือการเคลื่อนไหวอย่างเป็นรูปธรรม ในมุมกลับ สำหรับประเทศไทย ปัจจัยระหว่างประเทศดังกล่าวทำให้การเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีลักษณะที่จำกัดเฉพาะที่ (Localized) ซึ่งต่างจากอดีตที่มีลักษณะข้ามชาติ (Transnational) และทำให้ความสัมพันธ์ทางด้านชายแดนระหว่างไทยกับมาเลเซียไม่ค่อยเป็นประเด็นปัญหามากนัก

บทความชิ้นที่ 4 ความสัมพันธ์ไทย-ลาวในยุคโลกาภิวัตน์” หฤษฎ์ อินทะกนก อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ วิเคราะห์สถานะความสัมพันธ์ของชุมชนชายแดนและข้ามพรมแดนไทยลาวในกระแสโลกาภิวัตน์ ท่ามกลางกรณีความขัดแย้งในลุ่มแม่น้ำโขง โดยมุ่งเน้นในการศึกษาสาเหตุและผลกระทบของประเด็นปัญหาทางความมั่นคงต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขง ที่อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ลาวในแต่ละช่วงเวลา ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์แล้ว ลาวในฐานะเป็นรัฐเล็ก มีความสำคัญในฐานะพื้นที่เชื่อมต่อการเดินทางในลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งทำหน้าที่ทั้งเป็นกันชนและจุดเชื่อมต่อของการทหารและการค้าของมหาอำนาจต่างๆ มาโดยตลอด การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ไทย-ลาวในงานวิจัยย่อยชิ้นที่ 2 นี้จะมุ่งเน้นไปที่ความสัมพันธ์และพลวัตเชิงอำนาจที่ทั้งสองประเทศเกี่ยวโยงกับประเทศมหาอำนาจต่างๆ และองค์การระหว่างประเทศในภูมิภาค เช่น อาเซียน และ“ความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” (Greater Mekong Sub-Regional Economic Cooperation or GMS) บทความนี้เริ่มต้นที่ความเป็นมาของรัฐชาติไทย-ลาว จากนั้นจะพยายามวางความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศในบริบทของกระแสโลกาภิวัตน์ ในด้านการร่วมมือทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี และสรุปด้วยบทวิเคราะห์ความสัมพันธ์ไทย-ลาวในปัจจุบัน และคาดการความน่าจะเป็นของความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศในอนาคต ในมุมมองต่างๆ โดยเรียนรู้จากบทเรียนในอดีต

บทความสุดท้าย “ความมั่นคงและพลวัตเชิงอำนาจในกัมพูชา และความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา” โดย ภิญญ์ ศิรประภาศิริ อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเจรจาระหว่างประเทศและการทูต เสนอว่า ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชามักเน้นการทำความเข้าใจความขัดแย้งมากกว่าความร่วมมือ ซึ่งทำให้การศึกษาวรรณกรรมวิชาการศึกษาวิจัยปัจจัยสำคัญที่เป็นสาเหตุแห่งความขัดแย้ง ได้แก่ ประวัติศาสตร์ โครงสร้างทางการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำประเทศและผลประโยชน์ร่วมกัน และปัจจัยภายในทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยบทความนี้ได้ศึกษาพัฒนาการของความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาตั้งแต่ช่วงสงครามเย็นจนกระทั่งช่วงหลังสงครามเย็น โดยสรุปว่าทั้งทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสัจนิยม และเสรีนิยมในการอธิบายความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชานั้นยังมีข้อจำกัดอยู่มาก โดยเสนอว่าการอธิบายความร่วมมือและความขัดแย้งในกรณีนั้นไม่สามารถอธิบายจากปัจจัยภายนอกได้มากเท่าใดนัก แต่สอดคล้องกับกรอบการวิเคราะห์แบบ first image ซึ่งเป็น “การวิเคราะห์ถึงนโยบายและการกระทำของรัฐ โดยมองว่ารัฐคือมวลรวมของปัจเจกบุคคล และปัจเจกบุคคลมีความต้องการที่หลากหลายและมีความเห็นแก่ตัว” โดยสรุปว่า “ความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชาเป็นผลมาจากปัจจัยทางการเมืองและความมั่นคงภายในประเทศทั้งสองและการตัดสินใจของผู้นำประเทศในขณะนั้นว่าจะเพิ่มหรือบรรเทาความรุนแรงของความขัดแย้ง” นั่นเอง

เผยแพร่แล้ว: 26-02-2019