บทบรรณาธิการ

สาระสำคัญที่สุดประการหนึ่งของแนวคิดหรือทฤษฎีทางสังคมศาสตร์คือการสร้างมโนทัศน์ (Concept formation) มโนทัศน์คืออะไร? มโนทัศน์ทำหน้าที่อย่างไร? มโนทัศน์สัมพันธ์กับ “ความเป็นจริงทางสังคม” อย่างไร? มโนทัศน์สะท้อนความเป็นจริงทางสังคม? หรือมโนทัศน์สรรสร้างหรือสถาปนาความเป็นจริงทางสังคม? มโนทัศน์ทางสังคมศาสตร์ (ต้อง) มีความเป็นกลางหรือไม่? มโนทัศน์ช่วยปลดแอกมนุษย์จากการกักขังทางความคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมืองได้หรือไม่? มโนทัศน์ส่งเสริมการสร้างจินตนาการทางความคิดใหม่ๆ ได้หรือไม่ และอย่างไร? ฯลฯ   

นักวิชาการและผู้ศึกษาทางสังคมศาสตร์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการศึกษาหรือสร้างมโนทัศน์ เพื่อทำความเข้าใจหรืออธิบาย (ปรากฏการณ์ของ) โลกทางสังคมได้ ทั้งที่เป็นมโนทัศน์ดั้งเดิม เช่น รัฐ ชาติ ทุนนิยม เขตแดน โลกาภิวัตน์ ธรรมาภิบาล ฯลฯ หรือมโนทัศน์เกิดใหม่ เช่น สังคมความเสี่ยง (Risk society) ความยั่งยืน (Sustainability) ความยืดหยุ่น (Resilience) เศรษฐกิจ 4.0 ฯลฯ ทั้งจากโลกทางทฤษฎีและโลกปฏิบัติที่ต่างเพิ่มเติมปริมาณของมโนทัศน์ทางสังคมศาสตร์อย่างมากมายเหลือคณานับ จนอาจจะกลายเป็นภาวะอนันต์ (Infinity) ในที่สุด ภายใต้ยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งกาละและเทศะควบแน่นใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น

“ความยืดหยุ่น” (Resilience) ก็เป็นมโนทัศน์เกิดใหม่ทางสังคมศาสตร์ ภายใต้บริบทของโลกทุนนิยมโลกาภิวัตน์แบบเสรีนิยมใหม่ และวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินในระดับโลกอย่างรุนแรง นักวิชาการจำพวกหนึ่งและองค์การโลกบาลอย่างเช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) ต่างเสนอมโนทัศน์เรื่อง “ความยืดหยุ่น” ขึ้นมา เพื่อให้ปัจเจกบุคคลพึงมีความพร้อมที่จะปรับตัวและเปลี่ยนแปลงได้ ในยามเกิดภาวะความเสี่ยงหรือวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่กระทบชีวิตและวิถีชีวิตของตนอย่างฉับพลันและประหวั่นพรั่นพรึง โดยปัจเจกบุคคลที่ประสบความสำเร็จคือ คนที่เผชิญกับวิกฤตได้อย่างชาญฉลาด และสามารถปรับตัวได้อย่างยืดหยุ่น โดยสามารถกลับมาตั้งหลักประคองตัวได้อย่างดีในสังคมหลังวิกฤตได้ มโนทัศน์ “ความยืดหยุ่น” ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ดี และเหมาะสมกับการรับมือหรือบริหารจัดการภาวะความเสี่ยงสุดขั้ว เช่น ภัยพิบัติ หรือวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ดี มโนทัศน์ดังกล่าวกลับไม่เป็นกลาง หรือไม่เป็นวัตถุวิสัย แต่กลับแฝงฝังไปด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างเข้มข้น ซึ่งมโนทัศน์นี้กำลังผลักภาระไปสู่ปัจเจกมากขึ้นทุกทีๆ โดยไม่ตั้งคำถามหรือท้าทายโครงสร้างอำนาจหรือโครงสร้างของระบบทุนนิยมโลก ที่ก่อให้เกิดสังคมความเสี่ยงหรือวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว รวมทั้งยังปิดกั้น-กดทับโครงการหรือกระบวนการทางการเมือง (Politicization) ที่เรียกร้องหรือเปิดพื้นที่สาธารณะในการถกเถียงโต้แย้ง “ปัญหาของมโนทัศน์” ต่างๆ อย่างวิพากษ์ การศึกษาวิจัยเชิงปริมาณหรือเชิงสถิติแต่เพียงถ่ายเดียวคงไม่อาจอธิบายการก่อตัวของมโนทัศน์ หรือภาคปฏิบัติการเชิงอำนาจและวาทกรรมของ “มโนทัศน์” เหล่านี้ได้ (อย่างเพียงพอ) หรือไม่?    

ใน “สังคม (อุดมหรืออับจบ?) ปัญญา” ยุคปัจจุบัน เราในฐานะนักวิชาการและนักศึกษากำลังถูกผลักให้ต้องศึกษาค้นคว้าวิจัยหรือเขียนบทความ (วิจัยหรือวิชาการ) เกี่ยวกับ “มโนทัศน์” ที่ถูกผลิตสร้างและผลิตซ้ำในสังคมวิชาการและนโยบายสาธารณะอยู่ตลอดเวลา ตอนนี้อาจจะเป็นช่วงเวลาที่ไม่ใช่ “ตีพิมพ์หรือพัง” (Publish or perish) แต่เป็นเวลาของ “ตีพิมพ์และพัง” (Publish and perish) ไปด้วยในเวลาเดียวกัน ภายใต้ระบบการศึกษาแบบเสรีนิยมใหม่ที่มุ่งเน้นการแข่งขันการประกันคุณภาพและการควบคุมต่างๆ นานาอย่างมหาศาล ความรวดเร็ว (Speed) กลายเป็นสาระสำคัญของภาวะ (หลัง) สมัยใหม่ที่เทคโนโลยีสารสนเทศอยู่เหนือมนุษย์    

ในท้ายที่สุด เป้าหมายของการสร้างมโนทัศน์ทางสังคมศาสตร์ในปัจจุบันคืออะไร? คือการแสวงหาความรู้หรือความจริงทางความคิด/ปรัชญา? คือการตอบสนองความต้องการของตลาด? คือการส่งเสริมหรือสนับสนุนนโยบายของรัฐ หรือนโยบายสาธารณะ? หรือคือการสร้างความชอบธรรมให้แก่นโยบายหรือคุณค่าชุดใดชุดหนึ่งเป็นการเฉพาะ? กล่าวคือ มโนทัศน์นั้นมีไว้เพื่ออะไร? นอกจากนั้น การสร้างมโนทัศน์นั้นสอดคล้องไปในทางเดียวกันกับการสรรสร้างประชาธิปไตย ความยุติธรรม และสังคมที่เคารพหลักนิติรัฐหรือไม่ และอย่างไร? เราจะคิดถึงหรือสร้างมโนทัศน์ของ “มโนทัศน์” อีกแบบ/ทางเลือกอื่นได้หรือไม่ เพื่อสร้างสังคมสมัยใหม่ที่ทั้งเป็นประชาธิปไตยและเที่ยงธรรม?

สำหรับวารสาร “รัฐศาสตร์นิเทศ” ฉบับนี้ บทความแต่ละชิ้นได้นำประเด็นเชิงมโนทัศน์จากสาขาวิชาต่างๆ มานำเสนอ เริ่มจากมโนทัศน์ด้านการบริหารรัฐกิจ คือบทความเรื่อง “วิกฤติความรู้นโยบายสาธารณะไทยในส่วนของทฤษฎีโครงการ” โดย ศาสตราจารย์ ดร.เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ ส่วนชิ้นต่อมาจะพูดถึงมโนทัศน์ด้านประชาสังคม คือบทความภาษาอังกฤษเรื่อง “Understanding The Third Sector: Meanings and Theoretical Rationales for the Existence” โดย Theerapat Ungsuchaval และชิ้นสุดท้ายคือมโนทัศน์ด้านนิติศาสตร์ ในบทความเรื่อง “ความรับผิดชอบในทางกฎหมายของคณะรัฐมนตรีอังกฤษตามหลัก The Rule of Law” โดย รังสี มุทธามุนี นอกจากนี้ ยังมี Book review ของ ธิบดิ์ เซซัง แนะนำ "Democracy's guardians: A history of the German federal constitutional court, 1951-2001" ซึ่งเขียนโดย Justin Collings

กองบรรณาธิการวารสารรัฐศาสตร์นิเทศ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เผยแพร่แล้ว: 26-02-2019