บทบรรณาธิการ
วารสารรัฐศาสตร์นิเทศได้เดินทางเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว และเป็นเรื่องน่ายินดีที่ปรากฏว่า ทางวารสารเริ่มเป็นที่รู้จักกว่าแต่ก่อน ดังเห็นได้จากจำนวนบทความที่ส่งมาเข้า ซึ่งมีเพิ่มขึ้นพอสมควร สำหรับวารสารรัฐศาสตร์นิเทศฉบับนี้มีบทความที่น่าสนใจรวมทั้งหมด 4 ชิ้น คือ (1) “บทเรียนจากการประยุกต์ใช้กระบวนการลูกขุนพลเมืองในการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายประเด็นระบบการดูแลระยะยาวในผู้สูงอายุ” โดย สติธร ธนานิธิโชติ ชลิต ถาวรนุกิจกุล นิตยา โพธิ์นอก และ ชลัท ประเทืองรัตนา (2) “การทูตพหุภาคีของประเทศไทยในกรอบ G77 กับแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงช่วงปี ค.ศ. 2016” โดย เบญจกาญจน์ รุ่งโรจน์วณิชย์ (3) “ดัชนีและตัวชี้วัดสันติภาพที่เหมาะสมสำหรับสังคมไทย” โดย ชลัท ประเทืองรัตนา และสุดท้าย (4) “การเปลี่ยนแปลงการปกครองในภูฏาน ค.ศ. 2008: ข้อสังเกตเบื้องต้น” โดย บุหลันฉาย อุดมอริยทรัพย์
สำหรับบทความชิ้นแรก คณะผู้วิจัยได้นำเอาแนวคิดประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือเข้ามาประยุกต์ใช้ในกระบวนการกำหนดนโยบาย ก่อนประเมินความเป็นไปได้ ข้อจำกัดพื้นฐาน ตลอดจนเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง นับเป็นงานที่มีความทันสมัย อีกทั้งให้แง่มุมอันน่าสนใจในเชิงนโยบายสาธารณะ
บทความชิ้นที่สองพยายามวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระดับสากลระหว่างกรอบ G77 กับแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งการนำเอาประเด็นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาศึกษาผ่านมุมมองด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ช่วยให้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักปรัชญาดังกล่าวมีความครอบคลุมยิ่งขึ้น
บทความชิ้นที่สามมีความน่าสนใจอยู่ที่ความพยายามเสนอให้ประเทศไทยมีดัชนีและตัวชี้วัดสันติภาพ พร้อมศึกษาแนวทางดำเนินการที่เป็นไปได้และเหมาะสม จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีดัชนีและตัวชี้วัดสันติภาพ การถกเถียงจึงนับว่าค่อนข้างใหม่ และอาจช่วยปูทางสู่การริเริ่มเชิงนโยบายในอนาคต
บทความชิ้นสุดท้ายฉายภาพรวม พร้อมให้ข้อสังเกตเบื้องต้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้งใหญ่ในภูฏาน จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกระบวนการที่เป็นไปอย่างสันติ จึงทำให้เกิดโจทย์เชิงทฤษฎีเพื่ออธิบายธรรมชาติของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในภูฏาน
ทางกองบรรณาธิการหวังว่า บทความทั้งสี่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน และขอเชิญชวนผู้ที่สนใจร่วมส่งบทความมารับการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารรัฐศาสตร์นิเทศฉบับต่อๆ ไป
กองบรรณาธิการ
วารสารรัฐศาสตร์นิเทศ
เผยแพร่แล้ว: 26-02-2019