บทบรรณาธิการ
วารสารเล่มนี้ได้จัดทำขึ้นเป็น “ฉบับพิเศษ” เพื่อร่วมฉลองวาระ 70 ปีแห่งการสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวเล่มจึงมีความหนาและมีจำนวนบทความมากกว่าปกติเกินเท่าตัว และนอกจากนี้ ทางกองบรรณาธิการยังถือโอกาส “รื้อ” วิธีการนับรอบปีของวารสารด้วย กล่าวคือ ที่ผ่านมามีผู้อ่านบางท่านได้กรุณาตั้งข้อสังเกตว่า การนับรอบระยะเวลาการออกวารสาร “รัฐศาสตร์นิเทศ” นั้นไม่เป็นไปตามปีปฏิทิน เหตุเนื่องจากวารสารฉบับแรกออกมาช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2558 ส่งผลให้แต่ละรอบปีของวารสารจำต้องคาบเกี่ยว 2 ปีปฏิทินเสมอ ยกตัวอย่าง ปีที่ 2 ของวารสารคือช่วงเวลาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559 ถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 อย่างไรก็ดี เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนที่อาจเกิดขึ้น ทางกองบรรณาธิการจึงขอปรับระบบการนับรอบปีของวารสารใหม่ให้สอดคล้องกับปีปฏิทิน โดยใช้วารสารฉบับพิเศษที่ท่านถืออยู่ในมือนี้เป็นเครื่องมือขยับวงรอบการออกวารสารด้วยการรวมเล่มที่ 1 กับเล่มที่ 2 ของปีที่ 4 เข้าด้วยกันเป็นเล่มเดียว แล้วให้เล่มถัดไป ซึ่งจะออกช่วงครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2562 เป็น “ปีที่ 5 เล่มที่ 1” เลย
สำหรับเนื้อหาของวารสารฉบับพิเศษนี้ประกอบด้วยบทความมากถึง 9 ชิ้นคือ “ประวัติศาสตร์และพัฒนาการการเรียนการสอนวิชาการปกครองท้องถิ่นไทย พ.ศ. 2442 - 2560” โดย คุณกิรพัฒน์ เขียนทองกุล “การอภิบาลโดยเครือข่าย (Network Governance): กรอบแนวคิดและมิติการวิเคราะห์” โดย ผศ.ดร.วสันต์ เหลืองประภัสร์ และ อ.ชาย ไชยชิต “ภูมิรัฐศาสตร์แนววิพากษ์: ยุทธศาสตร์การป้องปรามของประเทศนอร์เวย์และรัสเซียในภูมิภาคอาร์กติก ณ จุดเปลี่ยนแห่งสหัสวรรษ” โดย อ.วศิน ปั้นทอง “การเมืองของถ้อยความเกลียดชัง: ภาษากับการสร้างความเกลียดชังในความขัดแย้งการเมืองไทย” โดย อ.กุลชาติ ทักษไพบูลย์ “Mapping Accountability Dissonance in Transnational Crisis Migration” โดย คุณ Fumie Nakamura “พินิจแนวคิด Soft Power อย่างจริงจัง: ปัญหาและความเข้าใจผิดของการประยุกต์ใช้ต่อกรณีศึกษาต่าง ๆ ในไทย” โดย อ.ดร.พีระ เจริญวัฒนานุกุล “อำนาจตุลาการกับการเมือง: บทเรียนจากคณะตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสสู่ศาลรัฐธรรมนูญไทย” โดย คุณชัชฎา กำลังแพทย์ “เมื่อรัฐไม่ยอมเปลี่ยนแปลง: บทเรียนจากน้ำท่วมใหญ่ ปี 2554” โดย อ.ดร.ลดาวัลย์ ไข่คำ และสุดท้าย “การศึกษาปัญหาและความท้าทายในการรับมือการโจมตีทางไซเบอร์โดยทฤษฎีป้องปราม (Deterrence Theory)” โดย ร.อ.ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ
ทางกองบรรณาธิการหวังว่า บทความทุกชิ้นข้างต้นจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากมีข้อแนะนำติชมประการใด ทางกองบรรณาธิการยินดีน้อมรับและพร้อมปรับปรุงการทำงานเสมอ อนึ่ง นับจากปี พ.ศ. 2562 ทางกองบรรณาธิการกำลังจะเริ่มเข้าสู่การทำงานแบบออนไลน์มากขึ้น คือปรับปรุงระบบให้ผู้ส่งผลงานและผู้ประเมินสามารถดำเนินการผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้โดยเบ็ดเสร็จ ไม่ต้องทำเป็นรูปเอกสารออกมาอีก สุดท้ายแล้ว การปรับปรุงเช่นนี้น่าจะช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพของวารสาร “รัฐศาสตร์นิเทศ” ไปสู่อีกขั้นหนึ่ง
กองบรรณาธิการ
เผยแพร่แล้ว: 26-02-2019