ผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองกรณีศึกษา: ชุมชนริมคลองถนนฝั่งตะวันตก กรุงเทพมหานคร

Main Article Content

วิชญ์วิสิฐ พรหมดา
ธีราพร ทองปัญญา
ชลิตา บัณฑุวงศ์

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ


การวิจัยในครั้งนี้มีจุดประสงค์ เพื่อศึกษาผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลอง โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ และทำการเก็บข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน 25 คน ด้วยวิธีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก การสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม และการสังเกตการณ์อย่างไม่มีส่วนร่วม และทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหา


            จากผลการศึกษาพบว่า สภาพของชุมชนริมคลองถนนฝั่งตะวันตกในช่วงที่โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเข้ามาในชุมชนแห่งนี้ ทำให้สภาพชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงไป โดยได้รับผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบจากโครงการ 3 ด้าน ได้แก่  (1) ด้านที่อยู่อาศัย (2) ด้านเศรษฐกิจ


และ (3) ด้านสังคมวัฒนธรรม โดยผลกระทบด้านที่อยู่อาศัยในเชิงบวก คือ ได้บ้านหลังใหม่ที่เป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม ราคาถูก และมีการทำสัญญาเช่าซื้อบ้านมั่นคงและที่ดินอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรกับกรมธนารักษ์เป็นระยะเวลา 30 ปี ส่วนผลกระทบเชิงลบ คือ ผู้ที่ยอมรับสัญญาเช่าซื้อบ้านมั่นคงและที่ดินจะต้องสูญเสียความเป็นเจ้าของเดิมในพื้นที่ในชุมชน และต้องทำสัญญาเช่าซื้อบ้านมั่นคงและที่ดินไปทุก ๆ 30 ปี ผลกระทบด้านเศรษฐกิจเชิงบวก คือ หน่วยงานภาครัฐมีการส่งเสริมอาชีพและจัดตั้งรัฐวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน ในขณะที่ผลกระทบเชิงลบ คือ ผู้ที่ประกอบอาชีพเดิมต้องสูญเสียอาชีพและรายได้เดิมของตนเองไปจนกว่าโครงการจะดำเนินการเสร็จสิ้น และผลกระทบด้านสังคมเชิงบวก คือ การดำเนินการสร้างเขื่อน ริมคลอง เพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยในกรุงเทพมหานคร มีการจัดระเบียบชุมชนให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม และน่ามอง และผลกระทบเชิงลบ คือ คนในชุมชนเกิดการแตกแยกทางความคิด แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่ กลุ่มคนที่เข้าร่วมโครงการ และกลุ่มคนที่ไม่เข้าร่วมและไม่ต้องการโครงการ ทำให้เกิดปัญหาสมาชิกครอบครัวต้องแยกกันอยู่อาศัย เด็กในวัยเรียนต้องย้ายไปอยู่อาศัยพื้นที่ใหม่ที่ห่างไกลจากสถานศึกษา รวมไปถึงการสูญหายไปของวัฒนธรรมชุมชนของคนในชุมชนริมคลองถนนฝั่งตะวันตก

Article Details

บท
บทความวิจัย