การศึกษาแนวคิดเชิงปรัชญาในหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง

Main Article Content

ไม้ สงวนสกุล

บทคัดย่อ

บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา  1) แนวคิดเชิงปรัชญาที่ปรากฏในหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง  และ  2) เพื่อวิเคราะห์ระดับการรับรู้และความเข้าใจต่อแนวคิดเชิงปรัชญาในหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง กลุ่มตัวอย่าง คือนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนกระบวนวิชาปรัชญาไทย (PHI 4204) ในภาคการศึกษาที่ 1 และ 2 ปีการศึกษา 2562 และผู้สนในในวิชาปรัชญาไทย (PHI 4204) ทั้งหมดจำนวน 27 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือแบบทดสอบ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้โปรแกรมทางสถิติ  ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหาแบบอุปนัย 


ผลการวิจัยพบว่า 1) แนวคิดเชิงปรัชญาในหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างชาติไทยเป็นของตนเอง  ประกอบด้วยเอกลักษณ์ เอกภาพ เอกราชและอธิปไตย เป็นการปลดแอกจากอิทธิพลขอมสบาดโขลญลำพงโดยสิ้นเชิง โดยผ่านการศึกษาแนวคิดเชิงปรัชญาใน 5 ด้าน คือ  (1) ด้านหลักการดำรงชีวิตส่วนบุคคล  จากพระจริยวัตรที่ได้ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีในการ


ดำรงชีวิตแก่บุคคลทั่วไป  มีความกตัญญูกตเวที  มีความกล้าหาญในการปกป้องราชอาณาจักร ทรงเป็นพุทธศาสนูปถัมภก  (2) ด้านสังคม สังคมสุโขทัยผู้คนล้วนเป็นคนใจบุญชอบทำทาน ให้ความสำคัญต่อกาลพรรษา ยึดถือความสันโดษ ศรัทธาในพระขะพุงผี (3) ด้านการเมืองการปกครอง พบว่า มีกฎหมายมรดก  มีการตัดสินข้อพิพาทด้วยความเที่ยงธรรม มีการเปิดโอกาสให้ร้องทุกข์โดยตรงด้วยการแขวนกระดิ่งไว้หน้าประตูราชวัง มีการปกครองรูปแบบ “พ่อปกครองลูก” (4) ด้านเศรษฐกิจ อาณาจักรสุโขทัยมีความอุดมสมบูรณ์  ผู้ปกครองไม่เก็บภาษี (จังกอบ)  เน้นการค้าเสรี  (5) ด้านการศึกษา พบว่า  พ่อขุนเป็นทั้งครูและนักปกครอง ให้กำเนิดลายสือไท ให้กำเนิดสถานที่อบรม สั่งสอน และ 2) วิเคราะห์ระดับการรับรู้และความเข้าใจต่อแนวคิดเชิงปรัชญาในหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงของกลุ่มตัวอย่าง  พบว่า คะแนนเฉลี่ยหลังเรียนสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียนทุกด้าน ได้แก่  (1) ด้านความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง จากคะแนนแบบทดสอบก่อนเรียน (pre-test) กลุ่มตัวอย่างทำได้ร้อยละ 56.17 ส่วนคะแนนจากแบบทดสอบหลังเรียน (post-test) ทำได้ร้อยละ 72.22 (2) ด้านหลักการดำเนินชีวิตส่วนบุคคล จากคะแนนแบบทดสอบก่อนเรียน กลุ่มตัวอย่างทำได้ ร้อยละ 27.16 ส่วนคะแนนจากแบบทดสอบหลังเรียน ทำได้ร้อยละ 69.14 (3) ด้านสังคม จากคะแนนแบบทดสอบก่อนเรียนกลุ่มตัวอย่างทำได้ร้อยละ 54.63 ส่วนคะแนนจากแบบทดสอบหลังเรียน ทำได้ร้อยละ 79.63 (4) ด้านการเมืองการปกครอง จากคะแนนแบบทดสอบก่อนเรียน กลุ่มตัวอย่างทำได้ร้อยละ 67.90 ส่วนคะแนนจากแบบทดสอบหลังเรียน ทำได้ร้อยละ 88.89  (5) ด้านเศรษฐกิจ จากคะแนนแบบทดสอบก่อนเรียน กลุ่มตัวอย่างทำได้ร้อยละ 85.19 ส่วนคะแนนจากแบบทดสอบหลังเรียน ทำได้ร้อยละ 91.36 และ (6) ด้านการศึกษา จากคะแนนแบบทดสอบก่อนเรียน กลุ่มตัวอย่างทำได้ร้อยละ 76.54 ส่วนคะแนนจากแบบทดสอบหลังเรียน ทำได้ร้อยละ 81.48

Article Details

บท
บทความวิจัย