เครื่องดนตรีไทยในวรรณกรรมสมัยสุโขทัย

Main Article Content

สิปปวิชญ์ กิ่งแก้ว

บทคัดย่อ

ในสมัยสุโขทัยปรากฏเครื่องดนตรีไทยในวรรณกรรมลายลักษณ์ดังนี้ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ศิลาจารึกวัดบางสนุก ศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ ศิลาจารึกวัดพระยืน ศิลาจารึกวัดช้างล้อม ศิลาจารึกป้านางคำเยีย และเรื่องไตรภูมิกถา เครื่องดนตรีที่พบมีจำนวน 17 ชนิด ได้แก่ สรไน แตร สังข์ กาหล ทะเทียด เสน่ง พิสเนญชัย พาทย์ (พาทย์ฆ้อง) ซอพุงตอ พิณ ฆ้อง กังสดาล กระดิ่ง ฉิ่ง แฉ่ง บัณเฑาะว์ มรทงค์ เครื่องดนตรีเหล่านี้ได้มีการนำมาอธิบายความตามรูปศัพท์ที่ปรากฏในหลักฐานลายลักษณ์ โดยนักโบราณคดีและมีนักวิชาการดนตรีนำมาอธิบายแต่ก็ยังไม่มีการแสดงหลักฐานที่ทำให้เห็นรูปลักษณ์ของเครื่องดนตรีและหน้าที่ในการบรรเลงอย่างเป็นรูปธรรม การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) ชื่อและรูปลักษณ์เครื่องดนตรีไทย 2) หน้าที่ในการบรรเลงของเครื่องดนตรีไทยสมัยสุโขทัย โดยนำศาสตร์แขนงต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นมาศึกษาตีความซึ่งจะทำให้ได้รับความรู้เรื่องเครื่องดนตรีไทยสมัยสุโขทัยมากขึ้น อีกทั้งทำให้ทราบว่าเครื่องดนตรีไทยที่ใช้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัยมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างในปัจจุบัน ผลการศึกษาพบว่า 1) เครื่องดนตรีที่ยังคงรูปลักษณ์ ชื่อเรียกและหน้าที่ในการบรรเลงคงเดิม 2) เครื่องดนตรีที่ชื่อเรียกเปลี่ยนไปแต่ยังคงรูปลักษณ์และหน้าที่ในการบรรเลงคงเดิม 3) เครื่องดนตรีที่รูปลักษณ์และชื่อเรียกเปลี่ยนไป แต่ยังคงหน้าที่ในการบรรเลงคงเดิม 4) เครื่องดนตรีที่ชื่อเรียกและมีหน้าที่ในการบรรเลงคงเดิม แต่รูปลักษณ์เปลี่ยนแปลงเล็กน้อย 5) เครื่องดนตรีที่ชื่อเรียกเดียวกัน แต่มีรูปลักษณ์ต่างกัน และมีหน้าที่เหมือนหรือแตกต่างกันขึ้นอยู่กับการนำไปใช้งาน 6) เครื่องดนตรีที่ไม่ปรากฏใช้ในปัจจุบัน

Article Details

บท
บทความวิชาการ