การท่องเที่ยวเชิงศาสนา: กรณีศึกษา พระพิฆเนศ วัดสมานรัตนาราม จังหวัดฉะเชิงเทรา

Main Article Content

วิโรจ นาคชาตรี

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้ ต้องการศึกษารูปแบบการท่องเที่ยวเชิงศาสนาด้านความเชื่อเรื่องพระพิฆเนศ สำหรับการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงศาสนาในประเทศไทย โดยดำเนินการวิจัยเป็นการศึกษาเฉพาะกรณี (Case Study) ด้วยการเก็บข้อมูลจากประชาชนที่เดินทางมาท่องเที่ยวและขอพรกับองค์พระพิฆเนศ ณ วัดสมานรัตนาราม อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา กำหนดเลือกตัวอย่างโดยไม่ใช่ความน่าจะเป็น (Non Probability Sampling) จำนวน 400 คน ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 – พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ได้ผลสรุป ดังนี้


          การท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนา ณ วัดสมานรัตนาราม อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทราในประเทศไทย เป็นการท่องเที่ยวในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์และศาสนา จัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จุดเด่นคือความเชื่อว่าการได้มาสักการะ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะนำความเป็นสิริมงคลมาสู่ชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบูชาพระพิฆเนศ ปางนอนเสวยสุข จะช่วยขจัดอุปสรรคและบันดาลความสำเร็จ ประทานความมีกิน มีใช้ อยู่อย่างสุขสบายและขจัดปัญหา


          การวิจัยภาคสนามพบว่า วัดสมานรัตนาราม เป็นศาสนสถานสำคัญของพระพุทธศาสนา มีการสร้างเทวรูป เครื่องราง ของขลัง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์นอกพระพุทธศาสนา สำหรับการบูชาพระพิฆเนศ ซึ่งเป็นเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู นั้นมีชาวไทยที่นับถือพระพุทธศาสนามาบูชามากถึงร้อยละ 94  ผู้ที่มาบูชามากกว่ากลุ่มอื่นมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 27 มีระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 55 และมีรายได้มากกว่ากลุ่มอื่น คือ 10,000 – 30,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 32


          ข้อค้นพบที่น่าสนใจคือ ผู้ที่มาท่องเที่ยวและบูชาพระพิฆเนศ ตัดสินใจเลือกแหล่งท่องเที่ยวเชิงศาสนา เพราะความน่าสนใจของสถานที่ที่มีความสัมพันธ์กับความเชื่อ ทั้งเทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ โหราศาสตร์ สี ตัวเลขและพิธีกรรม รวมทั้งความสวยงามของสถานที่ และความคุ้มค่าของเงินที่ใช้ในการเดินทางท่องเที่ยว โดยมาท่องเที่ยวในวันหยุดสุดสัปดาห์มากกว่ากลุ่มอื่น  ที่สำคัญคือ การที่ชาวไทยจำนวนมาก ได้มาท่องเที่ยวและบูชาพระพิฆเนศ ณ วัดสมานรัตนราม ทำให้เกิดอาชีพที่สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน ชุมชนและวัด เช่น การจำหน่ายดอกไม้ ธูป เทียน การขายขนมที่ถวายองค์    พระพิฆเนศ การให้เช่าบูชาองค์พระพิฆเนศ รวมทั้งก่อให้เกิดร้านค้าต่าง ๆ จำนวนมาก ทำให้วัดและชุมชน พัฒนาอย่างรวดเร็ว

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

พิภัทรา แจ่มรุจี. (2557). การผสมผสานความเชื่อทางศาสนา (Syncretism) กับการกลายเป็นสินค้า

ของวัดในสังคมไทย: กรณีศึกษาวัดสมานรัตนาราม ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา. รายงานการวิจัย. คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ศิลปะ หินไชยศรี และไวชาลี หินไชยศรี. (2560). พระพิฆเนศ: แนวคิด พัฒนาการ และวิวัฒนาการ

ผสมผสานความเชื่อในสังคมไทย. วิทยาลัยสงฆ์พุทธโสธร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ ราชวิทยาลัย.

ศุภลักษณ์ หัตถพนม. (2558). การศึกษาวิเคราะห์การเคารพบูชาพระคเณศของชาวพุทธใน

สังคมไทย. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ข้อมูลออนไลน์

ศักดิ์ชาย สายสิงห์. (2564). วัด: จากพุทธศรัทธาสู่พาณิชย์ กรณีศึกษาการจัดการพุทธสถาน.

กรุงเทพมหานคร.

www.khonthai4-0.net., 3 มีนาคม 2566.

www.bcg.in.th., 3 ธค. 65

www.m-cluture.in.th., 5 กพ. 2566