การพัฒนาศักยภาพบุคคลในชุมชนเพื่อจัดการด้านการท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืน ของชุมชนตำบลลาดชะโด อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความพร้อมและความต้องการในการพัฒนาศักยภาพบุคคลในชุมชนเพื่อการจัดการด้านการท่องเที่ยวชุมชนตำบลลาดชะโด อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ 2) ศึกษาแนวทางการพัฒนาและจัดโครงการพัฒนาศักยภาพบุคคลในชุมชนเพื่อการจัดการด้านการท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืนชุมชนตำบลลาดชะโด อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เครื่องมือที่ใช้ คือแบบสอบถาม การสนทนากลุ่ม และการประชุมเชิงปฏิบัติการ กลุ่มตัวอย่างเป็นบุคคลในชุมชน ได้แก่ ผู้นำชุมชน/กำนันผู้ใหญ่บ้าน 16 คน ผู้ประกอบการเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว 2 คน คณะกรรมการกลุ่มท่องเที่ยวชุมชน 2 คน เจ้าหน้าที่เทศบาล 2 คน และประชาชน 10 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 32 คน ผลการวิจัย พบว่า
1) ความพร้อมและความต้องการในการพัฒนาศักยภาพบุคคลในชุมชนเพื่อการจัดการด้านการท่องเที่ยวชุมชนตำบลลาดชะโด พบว่า
1.1) ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 54.55) มีอายุระหว่าง 51-60 ปี (ร้อยละ 90.92) เรียนจบประถมศึกษา (ร้อยละ 22.73) อาศัยอยู่ในชุมชนมากกว่า 20 ปี (ร้อยละ 90.92) มีอาชีพเกษตรกรรม (ร้อยละ 45.45) มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท (ร้อยละ 50.00) ไม่เคยรับการอบรมเกี่ยวกับการจัดการชุมชน (ร้อยละ 50.00) เรื่องที่เคยอบรมเกี่ยวกับพัฒนาชุมชน (ร้อยละ 44.45)
1.2) ความพร้อมและความต้องการของบุคคลในชุมชนด้านความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและด้านบุคลิกภาพอยู่ในระดับมาก ( x̄ =3.58, x̄ =3.81 ) ด้านการจัดการท่องเที่ยว และด้านความสามารถในการพึ่งพาตนเองมีความพร้อมในระดับปานกลาง ( x̄ =3.19, =3.21) ส่วนระดับความต้องการพัฒนาของบุคคลในชุมชนพบว่า มีความต้องการพัฒนาในระดับมากทุกด้าน ได้แก่ ต้องการพัฒนาด้านความรู้ความเข้าใจ ( x̄ =3.70) ต้องการพัฒนาด้านการจัดการท่องเที่ยว ( x̄ =3.95) ต้องการพัฒนาด้านความสามารถพึ่งพาตนเอง ( x̄ = 4.29) และต้องการพัฒนาด้านบุคลิกภาพ ( x̄ =4.16)
2) แนวทางการพัฒนาและจัดโครงการพัฒนาศักยภาพบุคคลในชุมชนเพื่อการจัดการด้านการท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืนชุมชนตำบลลาดชะโด ดังนี้
2.1) แนวทางการพัฒนาศักยภาพบุคคลในชุมชนเพื่อการจัดการด้านการท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืนชุมชนตำบลลาดชะโด พบว่า
1) ควรสร้างความตระหนักให้บุคคลในชุมชนเห็นคุณค่าความงดงามของวิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณีของตน นำวัฒนธรรมประเพณีทรัพยากรท่องเที่ยวในชุมชนมาพิจารณาจัดทำเป็นผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวอย่างถูกต้องตามหลักการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
2) ควรจัดกิจกรรมและบริการการท่องเที่ยวของบุคคลในชุมชนจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งคนในชุมชนหน่วยงานองค์กรส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานสนับสนุนเช่นสถาบันอุดมศึกษาในท้องถิ่น
3) ตลาดลาดชะโดที่ซบเซาอยู่จะจัดประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมให้บุคคลในชุมชนมีการเคลื่อนไหวเป็นระยะเพื่อให้นักท่องเที่ยวมากขึ้น รวมทั้งใช้ช่องทางที่ภาครัฐมีการส่งเสริมมาช่วยในการทำตลาด เช่น เข้าร่วมงานที่หน่วยงานจัดขึ้นในโอกาสต่าง ๆ
4) ผู้นำชุมชนและองค์กรส่วนท้องถิ่นควรเป็นผู้นำจัดให้ชุมชนรวมตัวกันร่วมมือกันจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ขณะที่ชุมชนควรปรับทัศนคติของตนให้ยอมรับผลกระทบที่อาจจะเกิดจากการมีการท่องเที่ยวในชุมชนทั้งด้านบวกและด้านลบ การจัดพัฒนาศักยภาพจัดตามที่ชุมชนร่วมกันเสนอคือ อบรมเชิงปฏิบัติการ และ ศึกษาดูงาน พร้อมประเมินผลและแนวทางการนำไปใช้ประโยชน์
2.2) การจัดโครงการพัฒนาศักยภาพบุคคลในชุมชนเพื่อการจัดการด้านการท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืนชุมชนตำบลลาดชะโด ดังนี้
1) ด้านความรู้ความเข้าใจ ได้แก่ การสร้างความตระหนักให้คนในชุมชนเห็นคุณค่าของทรัพยากรการท่องเที่ยวของชุมชน การจัดให้ได้รับความรู้ความเข้าใจอย่างชัดเจนและปฏิบัติได้ ในด้านการวางแผนปฏิบัติงานเพื่อบริการการท่องเที่ยวของชุมชน และการกระตุ้นการมีส่วนร่วมของชุมชนให้มีความคิดเห็นร่วมกัน สอดคล้องกันในทุกขั้นตอนของการจัดการการท่องเที่ยวนั้นเทศบาลลาดชะโดจะจัดเจ้าหน้าที่สนับสนุนดำเนินการ
2) ด้านการจัดการท่องเที่ยว ได้แก่ การจัดตั้งกลุ่มเพื่อดำเนินการจัดการท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบให้คนในชุมชนเป็นมัคคุเทศก์ โดยขอให้คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เป็นที่ปรึกษา
3) ด้านความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ได้แก่ ให้บุคคลในชุมชนนำทรัพยากรท่องเที่ยวที่มีอยู่เดิม โดยเฉพาะตลาดโบราณลาดชะโด และสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมประเพณี มาจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวให้บ่อยขึ้นโดยขอความร่วมมือจากเทศบาลตำบลลาดชะโดซึ่งมีความพร้อมในการสนับสนุนระดับสูง
4) ด้านบุคลิกภาพ ได้แก่ การปรับทัศนคติของบุคคลในชุมชนให้ยอมรับผลกระทบจากการจัดให้มีกิจกรรมท่องเที่ยวในชุมชนทั้งด้านบวกและด้านลบ เช่น ให้มีส่วนร่วมรับผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นธรรมและผลด้านปัญหาที่อาจตามมาจากการมีการท่องเที่ยวในชุมชน
Article Details
เนื้อหาและข้อมูลในบทความที่ลงตีพิมพ์ในวารสาร ถือเป็นข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรง ซึ่งกองบรรณาธิการวารสารไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ
References
ปราณี ตันประยูร และลำยอง ปลั่งกลาง. (2557). การศึกษาการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวและรูปแบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างเป็นธรรมโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน กรณีตลาดโบราณลาดชะโด อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา.
พจนา สวนศรี. (2546). คู่มือการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน. พิมพ์ลักษณ์ กรุงเทพฯ: โครงการท่องเที่ยวเพื่อชีวิตและธรรมชาติ.
ยุวดี นิรัตน์ตระกูล. (2557). สถานการณ์ท่องเที่ยวและแนวโน้มในอนาคต. จุลสาร Tourism Journal TAT, Vol.3 No.1 Jan-Mar 2014 : 60-65.
วีระพล ทองมา และนวลจันทร์ ทองมา. (2551). กลยุทธ์การบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนพื้นที่สูงในจังหวัด เชียงใหม่. รายงานการวิจัย คณะพัฒนาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยแม่โจ้
ศักดิ์ศิริ นันตะสุข และคณะ. (2550). โครงการพัฒนาศักยภาพของคนในท้องถิ่นในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในกลุ่มจังหวัดอีสานใต้. รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์, มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ.
สุรินทร์ หลวงนา และคณะ. (2552). การพัฒนาบุคลากรทางการท่องเที่ยวเชิงเกษตรของภาครัฐและเอกชนในเขตจังหวัดอีสานใต้. รายงานฉบับสมบูรณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี.
อุษาวดี พูลพิพัฒน์. (2545). การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน : กรณีศึกษาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยชุมชนในประเทศไทย. จุลสารการท่องเที่ยว 21, 4 (ตุลาคม-ธันวาคม) : 38-48.