การผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ผู้แต่ง

  • อริสา สายศรีโกศล สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  • สมรักษ์ ชัยสิงห์กานานนท์ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

คำสำคัญ:

การผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม, ชาวเวียดนามอพยพ, ชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม, สุราษฎร์ธานี

บทคัดย่อ

บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อระดับการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายเวียดนามในอำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ในปัจจุบันมีชาวไทยเชื้อสายเวียดนามจำนวนหนึ่งอาศัยอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นลูกหลานของชาวเวียดนามอพยพที่ถูกจับคุมตัวมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปี พ.ศ. 2495 ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของไทยบทความนี้ศึกษาการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อระดับการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม ในอำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผ่านกรอบแนวคิดทฤษฎีการผสมกลมกลืนแบบแยกส่วน เป็นการศึกษาวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ศึกษาข้อมูลจากเอกสาร และสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลจำนวน 10 คน ประกอบด้วย ชาวเวียดนามอพยพรุ่นที่ 1 จำนวน 5 คน ชาวไทยเชื้อสายเวียดนามรุ่นที่ 2 จำนวน 4 คน รุ่นที่ 3 จำนวน 1 คน และสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมในด้านการดำเนินชีวิตประเพณีและวัฒนธรรม

ผลการศึกษาพบว่า ชาวเวียดนามอพยพรุ่นที่ 1 แต่งงานกันเองภายในกลุ่มผู้อพยพด้วยกัน สื่อสาร ภาษาเวียดนามได้คล่องกว่าการใช้ภาษาไทย ปัจจุบันยังคงมีสถานะไร้สัญชาติอาศัยอยู่ในประเทศโดยถือใบสำคัญประจำคนต่างด้าว ชาวไทยเชื้อสายเวียดนามรุ่นที่ 2 เริ่มผสมกลมกลืนกับสังคมที่เขาเกิดและเติบโตขึ้น ได้รับการศึกษาในโรงเรียนไทยสามารถอ่านเขียนและพูดได้ทั้งภาษาไทยกลางและภาษาท้องถิ่นภาคใต้ บางคนเปลี่ยนชื่อสกุลเป็นภาษาไทยและแต่งงานข้ามกลุ่มกับคนไทยในพื้นที่คนรุ่นนี้ได้รับสัญชาติไทยในปี พ.ศ. 2533 ส่วนรุ่นที่ 3 ได้รับสัญชาติไทยตั้งแต่แรกเกิด สื่อสารภาษาเวียดนามไม่ได้ ใช้ชีวิตเหมือนกับคนไทยทุกประการ และเริ่มปฏิเสธความเป็นเวียดนาม งานวิจัยพบว่า มีปัจจัย 2 ระดับที่ส่งผลต่อการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมที่ไม่เท่ากันของคนในรุ่นเดียวกันและระหว่างคนต่างรุ่น คือ ปัจจัยระดับบุคคล ได้แก่ อายุในขณะที่อพยพมาสุราษฎร์ธานี เพศ การศึกษา สถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว และปัจจัยระดับชุมชน ได้แก่ ระยะเวลาในการอาศัยในชุมชน กลยุทธ์ในการผสมกลมกลืน และการสนับสนุนทางสังคม

References

กฤษณะ ทองแก้ว. (2561). อำนาจชอบธรรมของชาวไทยเชื้อสายเวียดนามในเมืองสุราษฎร์ธานี. วารสารนิติศาสตร์และสังคมท้องถิ่น,2 (2), 1-25.

กุลนาถ เดชาเลิศ. (2542). การวิเคราะห์นโยบายและแนวทางในการปฏิบัติเกี่ยวกับชาวญวนอพยพ:ศึกษานโยบายความมั่นคงแห่งชาติต่อชาวญวนอพยพ พ.ศ. 2538-2540. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยรามคำแหง).

ณรงค์ศักดิ์ คูบุญญอารักษ์, พิสิฏฐ์ บุญไชย,และ ไพบูลย์ บุญไชย. (2561). บทบาทของชาวไทยเชื้อสายเวียดนามที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม.วารสารมหาวิทยาลัยนครพนม, 8 (2),107-116.

เฉลิมชัย รมิตานนท์. (2542). ทัศนคติคนไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อเวียดนาม: ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างจังหวัดที่มีและไม่มีชาวเวียดนามอพยพอาศัยอยู่. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต,จุฬาลงกรณ์วิทยาลัย).

ผุสดี จันทวิมล. (2541). เวียดนามในเมืองไทย The Vietnamese in Thailand. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว).

วิชาญ จำปีศรี. (2519). ญวนอพยพกับความมั่นคงของชาติ. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.

ธนนันท์ บุ่นวรรณา. (2545). นโยบายชาวเวียดนามอพยพของรัฐบาลจอมพล ป. บูลสงคราม พ.ศ.2491-2500. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย).

อริสา สายศรีโกศล. (2564). การผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมและการธำรงอัตลักษณ์ของชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี. (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณทิต, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์)

Waters, M. C., Tran, V. C., Kasinitz, P., & Mollenkopf, J. H. (2010). Segmented Assimilation Revisited: Types of Acculturation and Socioeconomic Mobility in young adulthood. Ethnic and racial studies, 33(7), 1168–1193.

สืบค้นจากhttps://doi.org/10.1080/01419871003624076.

Xie, Y., & Greenman, E. (2005). Segmented Assimilation Theory: A Reformulation and Empirical Test. PSC Research Report, No. 05-581. 8.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

17-06-2022