การดำเนินงานและผลกระทบจากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมด้านการบริการซ่อมบำรุงในจังหวัดเชียงใหม่

Main Article Content

ชัยวุฒิ ตั้งสมชัย

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการดำเนินงานและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หมวดการบริการซ่อมบำรุง ในจังหวัดเชียงใหม่ 4 ด้าน คือ ด้านการจัดการ ด้านการตลาด ด้านการผลิตและการดำเนินงาน และด้านการเงิน ตลอดจนสิ่งแวดล้อมในการดำเนินงาน และปัจจัยความสำเร็จในการดำเนินงาน โดยตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้คือ กิจการที่ประกอบธุรกิจการบริการซ่อมบำรุงที่ขึ้นทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก จำนวน 10 ราย และโดยการใช้แบบสอบถาม จำนวน 65 ราย ผลการศึกษาพบว่า ผู้ประกอบการธุรกิจการบริการซ่อมบำรุงส่วนใหญ่มีลักษณะการดำเนินธุรกิจแบบเจ้าของคนเดียว มีระยะเวลาเปิดดำเนินการมากกว่า 4 - 6 ปีขึ้นไป  มีจำนวนพนักงาน 1 - 10 คน และผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่มีหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนหรือช่วยเหลือ และไม่ได้รับรางวัลหรือการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานใดๆ

ด้านการจัดการ การวางแผนการดำเนินธุรกิจการบริการซ่อมบำรุง ผู้ประกอบการมีการวางแผนล่วงหน้า ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการวางแผนด้านการจัดการมากที่สุด และแผนส่วนใหญ่เป็นการวางแผนระยะสั้น (น้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 ปี) และมีดำเนินการตามแผนในระดับปานกลาง กิจการส่วนใหญ่ไม่มีผังโครงสร้างองค์กร

ด้านการผลิตและการดำเนินงาน ธุรกิจการบริการซ่อมบำรุง ในจังหวัดเชียงใหม่ส่วนใหญ่
มีความสามารถให้บริการลูกค้าได้สูงสุดต่อเดือน 26-50 ราย มีการจัดหาวัสดุงานและอะไหล่จากผู้จำหน่ายส่วนใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ และมีเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ขายโดยให้ความสำคัญกับคุณภาพได้มาตรฐานส่วนใหญ่ มีวิธีการตรวจสอบและการควบคุมคุณภาพงานซ่อมบำรุงหลังการซ่อมเสร็จแล้ว

ด้านบัญชีและการเงิน ธุรกิจการบริการซ่อมบำรุง ในจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนใหญ่มีมูลค่ารวมของสินทรัพย์โดยประมาณ (ไม่รวมมูลค่าที่ดินของกิจการ) 1 – 2.5 ล้านบาท มียอดขายรวมโดยประมาณน้อยกว่า 1 ล้านบาทต่อปี กำไรสุทธิโดยประมาณ 6% - 10% ของยอดขาย กิจการมีแหล่งที่มาของเงินทุนส่วนใหญ่จากทุนของเจ้าของคนเดียว และกิจการที่กู้ยืมจากสถาบันการเงินมีหนี้สินโดยประมาณ 5 แสน – 1 ล้านบาท

ด้านการตลาด ธุรกิจการบริการซ่อมบำรุง ในจังหวัดเชียงใหม่ลูกค้าส่วนใหญ่ ซ่อมบำรุงสิ่งของ/อุปกรณ์/รถยนต์ ที่ยังอยู่ในระยะเวลาประกัน มีวิธีการตั้งราคาค่าบริการซ่อมบำรุงตามต้นทุน มีการให้การรับประกันงานซ่อมและกำหนดระยะเวลาการรับประกันงานซ่อมไม่เกิน 3 เดือน และมีการประชาสัมพันธ์มากที่สุด แต่กิจการส่วนใหญ่ไม่เน้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมทางการตลาดมากนัก

การดำเนินงานธุรกิจการบริการซ่อมบำรุง ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมภายนอกกิจการ โดยใช้การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั่วไป (General Environment Analysis: PEST Analysis) โดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งปัจจัยที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ เศรษฐกิจระดับประเทศ

ส่วนผลกระทบจากปัจจัยที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของกิจการในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยใช้ตัวแบบพลังผลักดัน 5 ประการ (Five-Forces Model) โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ซึ่งปัจจัยที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดได้แก่ สินค้าทดแทนซึ่งได้แก่คู่แข่งที่มีลักษณะเป็นศูนย์หรือตัวแทนจำหน่ายสินค้าและมีศูนย์บริการซ่อมที่ครบวงจร ธุรกิจบริการซ่อมคอมพิวเตอร์และซ่อมบำรุงเครื่องปรับอากาศส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันคู่แข่งรายเดิมที่มีอยู่ในตลาด

ปัจจัยภายในที่มีผลต่อความสำเร็จในการประกอบธุรกิจการบริการซ่อมบำรุงได้แก่ 1. บุคลากรมีความเชี่ยวชาญและมีความเป็นมืออาชีพ 2. มีการให้บริการลูกค้าที่ดี 3. ทำเลที่ตั้งที่สะดวก 4. มีระบบรักษาพนักงานที่มีความสามารถ 5. มีเงินหมุนเวียนเพียงพอ และมีแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ 6. มีระบบบัญชีที่ดี และมีการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุม 7. มีการติดตามลูกค้าหลังการส่งคืนสินค้า 8. บริการที่ซื่อสัตย์ 9. ให้บริการลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว และกำหนดระยะเวลาซ่อมได้อย่างถูกต้อง 10.มีการประเมินค่าใช้จ่ายได้อย่างถูกต้อง

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จังหวัดเชียงใหม่. (2554). รายชื่อนิติบุคคลคงอยู่ตั้งแต่จดทะเบียน 30 มิถุนายน 2554 ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2555). ภาวะเศรษฐกิจไทย ปี 2554. จาก http://www.bot.or.th/Thai/EconomicConditions/Thai/report/DocLib_/annual_Y54_T.pdf

พฤศวรรักษ์ แดนสี. (2550). การวางแผนเชิงกลยุทธ์เพื่อพัฒนาธุรกิจอู่ซ่อมรถยนต์ ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

พิชญลักษณ์ พิชญกุล. (2543). หลักการจัดการ (703202) ภาควิชาการจัดการคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

พิบูล ที่ปะปาล. (2546). การจัดการเชิงกลยุทธ์. กรุงเทพมหานคร: อมรการพิมพ์.

สํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม. (2552). รายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2552 และแนวโน้ม ปี 2553. สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2556, จาก http://www.sme.go.th/Lists/Editorinput/DispF.aspx?List=15dca7fb-bf2e-464e-97e5-440321040570&ID=664

เอกรินทร์ สุทธิโพธิ์สุวรรณ์. (2547). ปัจจัยส่วนประสมการตลาดบริการที่มีผลต่อการเลือกใช้บริการอู่ซ่อมรถยนต์ อิสระในจังหวัดเชียงใหม่ การค้นคว้าแบบอิสระ บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

Taro Yamane. (1973). Statistics : An Introductory Analysis. 3 re ed. New York: Harper and Row.