แนวทางการจัดการทุนชุมชนที่สอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตำบลบึงชำอ้อ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี

Main Article Content

นิรินธนา บุษปฤกษ์
ภัทรภร พุฒพันธ์

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาบริบทชุมชน 2) วิเคราะห์ทุนชุมชน 3) วิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันของชุมชน และ 4) นำเสนอแนวทางการจัดการทุนชุมชนที่สอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของประเทศไทย วิธีดำเนินการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้กระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นพื้นฐาน ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก สนทนากลุ่ม และศึกษาจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พื้นที่ในการศึกษาคือ ตำบลบึงชำอ้อ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี จำนวน 12 หมู่บ้าน กำหนดกลุ่มผู้ให้ข้อมูลด้วยวิธีเจาะจงคือ กำนันตำบลบึงชำอ้อ ผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้าน หมู่ 1 ถึง หมู่ 12 นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบึงชำอ้อ นักพัฒนาชุมชนในพื้นที่ศึกษา เกษตรอำเภอ และปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งมีประสบการณ์ไม่ต่ำกว่า 5 ปี รวม 43 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสัมภาษณ์ แบบสำรวจ ประเด็นการสนทนากลุ่ม  และเทปบันทึกเสียง คณะผู้วิจัยใช้กระบวนการตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการตีความ ตามทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับทุนชุมชน และการวิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันที่สำคัญ ผลการวิจัย พบว่า 1) ชุมชนดั้งเดิมเป็นคนเชื้อสายมอญ อพยพมาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ พ.ศ. 2202 จนปัจจุบัน พื้นที่อยู่ในเขตปกครองของอำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ประกอบด้วย 12 หมู่บ้านภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม  สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปเป็นแบบร้อนชื้นภาคกลาง ด้านประชากรศาสตร์ (พ.ศ. 2562) ชุมชนประกอบด้วย 2,549 ครัวเรือน จำนวนประชากรทั้งสิ้น 9,134 คน แบ่งเป็นชาย 4,523 คน และหญิง 4,611 คน ด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีถนนทางหลวงชนบท หมายเลข ปท.4001 และหมายเลข 3045 มีถนนสายรองใช้เชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้าน ด้านเศรษฐกิจพบว่า ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป เกษตรกร และอื่น ๆ ตามลำดับ ด้านสังคมมีการรวมกลุ่มกันในลักษณะกลุ่มอาชีพ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และกองทุนสวัสดิการทางสังคม ประเพณีสำคัญคือ แห่เทียนเข้าพรรษา ลอยกระทง และสงกรานต์ 2) ผลการวิเคราะห์ทุนชุมชน จำแนกรายด้านพบว่า ทุนมนุษย์ของชุมชนประกอบด้วย ปราชญ์ชาวบ้านหัตถกรรมไม้ไผ่ สมุนไพร หมอดินอาสา และผู้นำชุมชนที่เป็นต้นแบบการจัดการน้ำในการทำร่องสวนเป็นแก้มลิงการเกษตร ทุนทางสังคมของชุมชนคือ การมีกลุ่มอาชีพ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มออมทรัพย์ กองทุนหมู่บ้าน กองทุนแม่ของแผ่นดิน กองทุนหลักประกันสุขภาพ และกลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ ทุนทางวัฒนธรรมที่สัมผัสได้ ประกอบด้วย ปูชนียสถาน 3 แห่ง คือ วัดสุขปุณฑริการาม หรือวัดชำอ้อ วัดศรีคัคณางค์ หรือวัดหัวช้าง วัดสอนดีศรีเจริญ และปูชนียวัตถุสำคัญ คือ พระพุทธชินราชจำลองและพระศรีอริยเมตไตรย์ (วัดสุขปุณฑริการาม) หลวงพ่อแดง (วัดศรีคัคณางค์) และพระพุทธรูปปางมารวิชัยและพระศรีอริยเมตไตรย์ (วัดสอนดีศรีเจริญ) ทุนทางวัฒนธรรมที่สัมผัสไม่ได้ คือ วัฒนธรรมการแต่งกายของชาวมอญ วัฒนธรรมด้านอาหาร ประเพณีเปิงสงกรานต์ข้าวแช่ ประเพณีการเล่นสะบ้าในวันสงกรานต์ และประเพณีการจุดลูกหนูในการเผาศพที่เมรุ 3) การวิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันที่สำคัญของชุมชนบึงชำอ้อพบว่า ปัจจัยสภาพแวดล้อมภายในที่ชุมชนมีความได้เปรียบในการแข่งขันคือ ด้านปัจจัยการผลิต ประกอบด้วยทุนมนุษย์ ทุนทางสังคม และทุนทางวัฒนธรรม ขณะที่ปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอกเชิงบวกคือ ด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนการทำเกษตร และ 4) แนวทางการจัดการทุนชุมชนที่สอดคล้อง ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้นพบว่า ในการจัดการควรเริ่มจากการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของชุมชน เมื่อทรัพยากรมนุษย์มีทักษะและความสามารถเพิ่มมากขึ้น ก็จะนำไปสู่การมีทุนทางสังคมที่มีศักยภาพ สามารถจัดการทุนทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นโดยมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าไปจนถึงการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ชุมชนจนสามารถพึ่งพาตนเองได้ รองรับการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทั้งนี้การเป็นชุมชนเข้มแข็งเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนให้การดำเนินนโยบายพัฒนาประเทศของรัฐมีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติต่อไป

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

Community Organizations Development Institute. (2019). Economic system development and community capital handbook. https://web.codi.or.th/printing_media/20160702-5009/

Keyuraphan, L. (2018). Knowledge management models for local wisdom and culture: A case study of Pak Phli District Nakorn Nayk Province. VRU Research and Development Humanities and Social Science, 13(2), 75-85. [in Thai]

Nakudom S., Kiewnoi, P., & Tawonwongsa, S. (2018). The competitive advantage stategies of cultural tourism of Nakhon Si Thammarat: A case study of Wat Phra Mahathat Woramahawiharn registering as a cultural world heritage. Journal of International and Thai Tourism, 14(2), 48-61. [in Thai]

Pinkesorn, K., Kittisaknawin, C., & Kongklai, C. (2017). Human capital: Corporate human capital scorecard. Journal of Graduate Studies Valaya Alongkorn Rajabhat University, 11(2), 193-202. [in Thai]

Sittipreechachan, P., Priyatruk, P., & Chotkakam, Y. (2012). Community participation in the process of care of elderly at Mabcare Subdistrict. Journal of the Royal Thai Army Nurses, 13(2), 8-17. [in Thai]

Surachatri, P. (2019). Human resource MST basted on sufficiency economy philosophy to step into Thailand 4.0. ARU Research Journal, 6(1), 99-108. [in Thai]

Thanapornpat, R. (2003). Cultural capital: Culture in capitalism. Matichon Publishing. [in Thai]

Weeraphanpong, A. (2014). Factors influencing self-reliance community: The case of Klongladmayom Community, Talingchan, Bangkok. Journal of Political Science and Law Kalasin Rajabhat University, 3(1), 59-82. [in Thai]

Office of the National Economic and Social Development Council. (2020). National strategy (2018-2037). http://nscr.nesdb.go.th/

Porter, M. E. (1990). The competitive advantage of nations. The Free Press.

Putnam, R. D. (1993). Making democracy work: Civic traditions in modern Italy. Princeton University Press.

The Chaipattana Foundation. (2020). Self-reliance. https://www.chaipat.or.th/

Throsby, C. D. (2001). Economics and cultures. Cambridge University Press.