บทบรรณาธิการ
Main Article Content
บทคัดย่อ
เดือนกรกฎาคมเมื่อ 20 ปีก่อน ประเทศไทยเผชิญวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ คือ วิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็นวิกฤตที่คนไทยทุกระดับตั้งแต่กลุ่มสถาบันการเงิน ผู้ประกอบการทางธุรกิจจนถึงประชาชนทั่วไปล้วนได้รับผลกระทบ จากวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งนั้นได้ส่งผลกระทบทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเกิดการปรับตัวครั้งใหญ่ โดยการให้ความสำคัญกับระบบธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีนัยสำคัญ
ผู้เชี่ยวชาญหลายแหล่งระบุว่า โอกาสที่ประเทศไทยจะเผชิญวิกฤตการเงินในรูปแบบเดิมนั้นแทบจะไม่มี วิกฤตที่เคยเกิดเมื่อ 20 ปีก่อนอาจจะไม่หวนกลับมา แต่อาจจะมีปัญหารูปแบบใหม่เกิดขึ้นคือ ประเทศไทยอาจต้องเผชิญกับ “ความเสี่ยงใหม่” ในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในยุคดิจิทัลกับการที่ภาคอุตสาหกรรมหรือภาคเศรษฐกิจเริ่มนำหุ่นยนต์และ AI (Artificial Intelligence) เข้าสู่ระบบตลาดแรงงานมากขึ้นที่เรียกว่า robotization จึงทำให้เกิด การบูรณาการทางความรู้และการเชื่อมโยงกับภูมิภาคอันเป็นที่มาของนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0”
จาก “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ถึง “ไทยแลนด์ 4.0” ทำให้ประเทศไทยได้เรียนรู้และจำเป็นต้องพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ตลอดเวลา เพราะในยุค 4.0 วิกฤตและความเสี่ยงจะมาอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบกว้างขวางยิ่งกว่าเมื่อ 20 ปีก่อน ดังนั้น ต้องเร่งพัฒนาด้านการศึกษาที่จะทำให้ประชาชนมีทักษะสูง สามารถเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การเพิ่มผลิตภาพทางการผลิตในภาครัฐและเอกชน และการพัฒนาทางด้านนวัตกรรม (innovation)
วารสารปัญญาภิวัฒน์ ก้าวมาสู่ปีที่ 9 และมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่องค์ความรู้ที่ทำให้ประเทศไทยพร้อมรับกับ “ความท้าทายใหม่ยุค 4.0” โดยในฉบับพิเศษ ประจำเดือนกรกฎาคม ทางวารสารฯ ได้รับบทความพิเศษเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” โดย ศาสตราจารย์ ดร.อภิชาติ ภัทรธรรม นอกจากนี้ยังมีบทความที่น่าสนใจ เช่น บทความเรื่อง “กลยุทธ์การตลาดสีเขียวและคุณค่าร่วม: ธุรกิจนำเที่ยวไทยในตลาดเออีซี” บทความเรื่อง “สถานการณ์ปัจจุบันและแนวทางการประกอบธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหารไทยในประเทศกัมพูชา” บทความเรื่อง “แนวทางการส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัล กรณีศึกษาธุรกิจเพลงในประเทศไทย” และบทความเรื่อง “กระบวนการนำเสนอขายผลิตภัณฑ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของเน็ตไอดอล” เป็นต้น
นอกจากนี้สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ยังได้จัดทำวารสารวิชาการเพิ่มเติมอีก 2 ฉบับ คือ วารสาร International Scientific Journal of Engineering and Technology เพื่อเผยแพร่ผลงานวิชาการสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และวารสาร Chinese Journal of Social Science and Management เพื่อเผยแพร่ผลงานวิชาการสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ซึ่งวารสารทั้ง 2 เล่มนี้ได้เผยแพร่ฉบับปฐมฤกษ์แล้ว ผู้สนใจสามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ journal.pim.ac.th
Article Details
“ข้าพเจ้าและผู้เขียนร่วม (ถ้ามี) ขอรับรองว่า บทความที่เสนอมานี้ยังไม่เคยได้รับการตีพิมพ์และไม่ได้อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาลงตีพิมพ์ในวารสารหรือแหล่งเผยแพร่อื่นใด ข้าพเจ้าและผู้เขียนร่วมยอมรับหลักเกณฑ์การพิจารณาต้นฉบับ ทั้งยินยอมให้กองบรรณาธิการมีสิทธิ์พิจารณาและตรวจแก้ต้นฉบับได้ตามที่เห็นสมควร พร้อมนี้ขอมอบลิขสิทธิ์บทความที่ได้รับการตีพิมพ์ให้แก่สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์หากมีการฟ้องร้องเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์เกี่ยวกับภาพ กราฟ ข้อความส่วนใดส่วนหนึ่งและ/หรือข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความข้าพเจ้าและผู้เขียนร่วมยินยอมรับผิดชอบแต่เพียงฝ่ายเดียว”