การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนสู่มาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชนอาเซียน กรณีศึกษา บ้านกู่ อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ

Main Article Content

อภิชัย ธรรมนิยม

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่อง การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนสู่มาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชนอาเซียน กรณีศึกษา บ้านกู่ อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ มีจุดประสงค์การวิจัยคือ (1) เพื่อศึกษาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของชุมชนวัฒนธรรมชาวกูยบ้านกู่ (2) เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาชุมชนวัฒนธรรมชาวกูยบ้านกู่สู่การเป็นการท่องเที่ยวโดยชุมชนอาเซียน ผู้ให้ข้อมูลสำคัญของการศึกษาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของชุมชนวัฒนธรรมชาวกูยบ้านกู่ ได้แก่ ผู้นำชุมชุน ปราชญ์ชาวบ้าน และกรรมการชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านกู่ รวมทั้งสิ้น จำนวน 11 คน ผู้ให้ข้อมูลสำคัญของการกำหนดแนวทางการพัฒนาชุมชนวัฒนธรรมชาวกูยบ้านกู่สู่การเป็นการท่องเที่ยวโดยชุมชนอาเซียน ได้แก่ ผู้นำชุมชุน ปราชญ์ชาวบ้าน และกรรมการชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านกู่ ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กร/ธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษา และชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านกู่ รวมทั้งสิ้น จำนวน 20 คน ใช้วิธีการเลือกผู้ให้ข้อมูลสำคัญแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาคือแบบประเมินมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชนอาเซียน มีวิธีการเก็บข้อมูลโดยการประชุมระดมความคิดเห็นและการประชุมเชิงปฏิบัติการ และใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนา


ผลการศึกษาพบว่า ชุมชนวัฒนธรรมชาวกูยบ้านกู่ มีผลการดำเนินงานด้านการท่องเที่ยวที่ผ่านเกณฑ์การประเมินการท่องเที่ยวโดยชุมชนอาเซียน จำนวน 121 เกณฑ์ ไม่ผ่าน จำนวน 50 เกณฑ์ จากทั้งหมด 171 เกณฑ์ จุดเด่นด้านการจัดการการท่องเที่ยวของชุมชน ได้แก่ 1) ชุมชนมีการจัดตั้งชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านกู่ 2) ชุมชนใช้เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต และความเป็นอยู่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชน 3) ชุมชนมีความร่วมมือกับชุมชนใกล้เคียง โดยมีการประสานการทำงานร่วมกับหมู่บ้านใกล้เคียงเพื่อนำสินค้ามาวางขายให้แก่นักท่องเที่ยว 4) ชุมชนส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการต้อนรับนักท่องเที่ยว และส่งเสริมให้เยาวชนทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์นำชมและให้ข้อมูลต่างๆ 5) ชุมชนใช้ผลิตภัณฑ์และบริการที่มีอยู่ในท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ 6) ชมรมฯ ส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนให้รักษาวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม เช่นการแต่งกาย ภาษาพูด สร้างความภาคภูมิใจแก่สมาชิกชุมชน แนวทางการพัฒนาสู่การเป็นการท่องเที่ยวโดยชุมชนมาตรฐานอาเซียนพบว่าชุมชนควรมีแนวทางการพัฒนาตนเอง ดังต่อไปนี้ (1) พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการท่องเที่ยวเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับการท่องเที่ยวโดยชุมชน (2) พัฒนาคุณภาพและความเชี่ยวชาญของมัคคุเทศก์ท้องถิ่น (3) พัฒนาคุณภาพของการท่องเที่ยวและกิจกรรมต่างๆ (4) พัฒนาคุณภาพของบริการอาหารและเครื่องดื่ม (5) พัฒนาคุณภาพของที่พักในชุมชน (6) พัฒนาการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการการท่องเที่ยวอย่างเป็นมิตร (FTO)

Article Details

บท
Research Articles (บทความวิจัย)

References

ธงชัย ภูวนาถวิจิตร และคณะ. (2558). การบริหารและการจัดการการท่องเที่ยวชุมชนเพื่อรองรับการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน. สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว).
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564). สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. สำนักนายกรัฐมนตรี.
พจนา สวนศรี และคณะ. (2557). การพัฒนามาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชนสำหรับภูมิภาคอาเซียนสู่ความเป็นสากล. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ. (2559). รายงานการประชุมข้าราชการสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ ประจำเดือนมกราคม 2559. ครั้งที่ 1/2559. วาระที่ 4.19. สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ.