การวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนจากการปลูกหอมแดง ในพื้นที่อำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ

Main Article Content

วนัสนันท์ งวดชัย

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์ของการศึกษาในครั้งนี้ คือ (1) เพื่อศึกษาต้นทุนและผลตอบแทน จากการปลูกหอมแดง (2) เพื่อวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนการปลูกหอมแดง  ของเกษตรกรในอำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ


            ในการศึกษาในครั้งนี้ ได้ทำการรวบรวมข้อมูลจากเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงในอำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการศึกษา โดยรวบรวมข้อมูลจากพื้นที่ 3 ตำบลที่มีการปลูกหอมแดงมากที่สุดในอำเภอยางชุมน้อย ซึ่งประกอบไปด้วย ตำบลยางชุมน้อย ตำบลบึงบอน และตำบลลิ้นฟ้า ซึ่งรวบรวมข้อมูลได้ทั้งหมด 343 ครัวเรือน จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์โดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและทำการวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนของเกษตรกรกลุ่มตัวอย่าง


            การศึกษาต้นทุนและผลตอบแทน จากการปลูกหอมแดงของเกษตรกรในอำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ ด้านข้อมูลพื้นฐานของเกษตรกรที่ผลิตหอมแดง พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุ 41-50 ปี สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา มีจำนวนสมาชิกในครัวเรือน 4 - 6 คน ส่วนด้านต้นทุนและผลตอบแทน พบว่า มีพื้นที่ปลูกจำนวน 9,100.5 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 3,000 กิโลกรัมต่อไร่  เมื่อพิจารณาต้นทุนโดยเฉลี่ยต่อไร่ มีค่าเท่ากับ 19,058.09 บาทต่อไร่ ส่วนใหญ่เป็นค่าแรงที่เป็นต้นทุนหลัก คิดเป็นร้อยละ 40.61 ของต้นทุนผลิตทั้งหมด ส่วนผลตอบแทนจากการปลูกหอมแดง ณ ระดับราคาเฉลี่ยที่ 22.37 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรจะมีรายได้เฉลี่ย 67,110 บาทต่อไร่ ซึ่งต้นทุนแรงงานปลูกมีค่าอันดับสูงสุดของค่าแรงทั้งหมด  ส่วนผลตอบแทนจากการปลูกหอมแดง ณ ระดับราคาเฉลี่ยที่ 22.37 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรจะมีรายได้เฉลี่ย 67,110 บาทต่อไร่ และหากนำมาคำนวณกำไรสุทธิ พบว่า มีค่าเท่ากับ 48,051.91 บาทต่อไร่ หรือ 16.02 บาทต่อกิโลกรัม


            การวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนการปลูกหอมแดงของเกษตรกรในอำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ โดยการวิเคราะห์จุดคุ้มทุนโดยเฉลี่ยต่อไร่ มีค่าเท่ากับ 0.3 กิโลกรัมต่อไร่ มีอัตรากำไรต่อต้นทุน 252.13 %  อัตรากำไรต่อยอดขายร้อยละ 71.6 %  และมีผลตอบแทนจากการลงทุน 99.62 % ซึ่งหากพิจารณาจากงานวิจัยที่ทำการวิเคราะห์ต้นแทนและผลตอบแทนในการปลูกสินค้าเกษตรชนิดอื่น ๆ แล้ว พบว่าการปลูกหอมแดงให้ผลตอบแทนที่สูงเมื่อเทียบกับการปลูกพืชชนิดอื่น ดังนั้น ภาครัฐควรสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกหอมแดงเป็นทางเลือกหนึ่งในการเพาะปลูกของเกษตรกร อีกทั้งควรสนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มกัน ในการวางแผนให้ทำการปลูกและการเก็บเกี่ยวของเกษตรกรแต่ละรายไม่ให้ทำการปลูกและเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาเดียวกัน โดยคำนึงถึงความต้องการของตลาดแต่ละช่วง เพื่อแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาดซึ่งจะทำให้ราคาตกต่ำ

Article Details

บท
Research Articles (บทความวิจัย)

References

กรมวิชาการเกษตร. (2560). ฐานข้อมูลของศูนย์สารสนเทศ : องค์ความรู้เรื่องหอมแดง. แหล่งข้อมูล : http://www.doae.go.th/plant/shallot.html. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2560.
บัญจรัตน์ นิรโศก. (2560). การวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนการปลูกมันสําปะหลังในเขตพื้นที่ภาคกลาง. การประชุมวิชาการระดับชาติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ครั้งที่ 1 (The 1st RUSNC) วันที่ 22 มิถุนายน 2559. 987-993
ธนยา พร้อมมูล. (2559). การวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนของการปลูกกล้วยน้ำว้า ในเขตอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี. (วิทยานิพนธ์ บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต). กรุงเทพฯ : วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์.
ทะนุพงศ์ กุสุมา ณ อยุธยา. (2558). หอมแดง...ดีๆ ที่ 1 ยางชุมน้อย ศรีสะเกษ. แหล่งข้อมูล : http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05061010658&srcday=&search=no. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2560.
สำนักงานเกษตรอำเภอยางชุมน้อย. (2559). เอกสารประกอบการประชุมการเกษตรอินทรีย์วิถียางชุม.
สุขใจ ตอนปัญญา. (2554). ต้นทุนและผลตอบแทนในการลงทุนปลูกข้าวของเกษตรกร หมู่ 5 ตำบลหัวดง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร. (การค้นคว้าอิสระ บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต). ปทุมธานี : คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี.
ศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์. (2553). ระเบียบวิธีวิจัยสำหรับธุรกิจ. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ : ฮาซันพริ้นติ้ง.
อุกฤษฎ์ พงษ์วานิชอนันต์. (2552). ต้นทุนและผลตอบแทนการผลิตอ้อยโรงงาน ตําบลดอนเจดีย์ อําเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี. (สารนิพนธ์ ปริญญาเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต). กรุงเทพฯ : คณะเศรษฐศาสตร์การจัดการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
Yamane, T. (1973). Statistics: An Introductory Analysis. (3rd ed). New York: Harper & Row.