แนวทางการบริหารจัดการชุมชนสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

Main Article Content

วรารัตน์ เทือกทิพย์
พลกฤต แสงอาวุธ
วิทวัส ขุนหนู

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาระดับการบริหารจัดการของชุมชนสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี 2) วิเคราะห์สถานการณ์การบริหารจัดการชุมชนสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ 3) ศึกษาแนวทางการบริหารจัดการชุมชนสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยใช้วิธีการวิจัยแบบผสมผสาน ซึ่งใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือรวบรวมข้อมูล (มีค่าความน่าเชื่อมั่นเท่ากับ 0.98) ประชากรที่ใช้ในการวิจัยเชิงปริมาณ ได้แก่ ประชากรที่อาศัยในชุมชน อำเภอ เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีจำนวน 67,265 คน ใช้สูตรของยามาเน่ กำหนดค่าความคลาดเคลื่อนไม่เกินร้อยละ 5 ได้จำนวนกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 397 คน เพื่อความสะดวกในการเก็บข้อมูลผู้ศึกษาเก็บข้อมูล จำนวน 400 คน และประชากรที่ใช้ในการวิจัยเชิงคุณภาพ ได้แก่ คณะกรรมการชุมชน จำนวน 5 คน ใช้วิธีเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก จากนั้นเก็บข้อมูลแบบสนทนากลุ่ม จำนวน 14 คน จากคณะกรรมการชุมชน กลุ่มผู้นำด้านการท่องเที่ยวชุมชนในอำเภอเกาะสมุย โดยใช้หลักการวิเคราะห์เนื้อหาและอธิบายผลผ่านวิธีการวิจัยเชิงปรากฏการณ์วิทยา ผลการวิจัยพบว่า 1) การบริหารจัดการชุมชนสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยรวมอยู่ในระดับดี 2) วิเคราะห์สถานการณ์การบริหารจัดการชุมชนในอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบว่า ชุมชนร่วมมือกับเทศบาลนครเกาะสมุยในการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการกำหนดนโยบายและออกแบบกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง แต่บางชุมชนไม่สามารถปฏิบัติตามแนวปฏิบัติการปกครองส่วนท้องถิ่นได้ โดยการเพิกเฉยและไม่ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติดังกล่าว ด้านอนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมเน้นในเรื่องวัฒนธรรมการกินเพราะเกาะสมุยมีมะพร้าวเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารจำนวนมาก เช่น ชุมชนบ้านใต้มีมะพร้าวจำนวนมาก ชุมชนจึงพยายามที่จะสร้างคุณค่าจากผลิตภัณฑ์มะพร้าวให้เกิดรายได้แก่ชุมชน ขณะที่ด้านคุณภาพชีวิตประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีเพราะมีรายได้จากการท่องเที่ยวเข้ามาสนับสนุนชุมชนซึ่งส่วนใหญ่ได้จากการค้าขาย แต่ในทางตรงข้ามด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมก็ถูกทำลายไปกับการทำธุรกิจการท่องเที่ยว เช่น การก่อสร้างโรงแรมรีสอร์ทที่ไม่ได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รวมทั้งด้านการบริการและความปลอดภัยยากต่อการควบคุมและเข้าถึงบริการภาครัฐที่จัดไว้ให้เนื่องจากมีประชากรแฝงอาศัยอยู่จำนวนมาก และ 3) แนวทางการบริหารจัดการชุมชนสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามที่โครงสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรได้รับการปรับปรุงให้เหมาะกับบริบทพื้นที่ ขณะเดียวกันชุมชนควรเข้าไปมีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐให้มากขึ้น เพื่อสามารถมาถ่ายทอดให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการท่องเที่ยวอย่างหลากหลายมิติ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่จนนำไปสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วยระบบการบริหารจัดการที่ดีในที่สุด

Article Details

บท
Research Articles (บทความวิจัย)

References

คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ. (2559). เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย. องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน). กรุงเทพฯ.

ชมพูนุท ภาณุภาส. (2559). การพัฒนารูปแบบการจัดการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมพวนโดยชุมชน [วิทยานิพนธ์ปริญญาบัณฑิต ไม่ได้ตีพิมพ์]. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ชรินทร์ ศิริยงศ์ และธวัชชัย ทุมทอง. (2561). แนวทางการบริหารจัดการเทศบาลนครเกาะสมุยให้เป็นเมืองน่าอยู่. วารสารการบริหารการปกครองและนวัตกรรมท้องถิ่น, 2(2), 2561.

บุญใจ แก้วน้อย. (2558). อนาคตสมุย: การบริหารท้องถิ่นรูปแบบพิเศษด้านการท่องเที่ยว. ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้.

บุญเลิศ จิตตั้งวัฒนา และเพ็ญศิริ ศรีคำภา. (2557). การพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (SustainableTourism Development). นนทบุรี: บริษัท ธรรมสาร จำกัด.

ประชิด สกุณะพัฒน์ วิมล จิโรจน์พันธุ์ และอุดม เชยกีวงศ์. (2554). การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ. กรุงเทพฯ: แสงดาว.

พจนา สวนศรี และสมภพ ยี่จอหอ. (2556). คู่มือมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน (พิมพ์ครั้งที่ 1). เชียงใหม่: หจก. วนิดาการพิมพ์.

ภูริพัฒน์ แก้วศรี. (2561). การบริหารจัดการชุมชนเพื่อการเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย. วารสารศรีนครินทรวิโรฒวิจัยและพัฒนา, 10(19), 140.

สำนักงานสถิติจังหวัดสุราษฎร์ธานี. (2561). โครงการจัดทำข้อมูลสถิติและสารสนเทศเพื่อการบริหารระดับพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560. สุราษฎร์ธานี.

อนงค์ ไต่วัลย์. (2555). การบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวตลาดน้ำแบบยั่งยืน กรณีศึกษา ตลาดน้ำวัดตะเคียน อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี. คณะบริหารธุรกิจบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชมงคลพระนคร.

Dickman, S. (1996). Tourism: An Introductory Text (2nd ed). Sydney: Hodder Education.